สมุนไพรผักเสี้ยน

สมุนไพรผักเสี้ยน

ผักเสี้ยน Cleome gynandra Linn
ชื่อพ้อง Gynandropsis pentaphylla DC.
บางถิ่นเรียก ผักเสี้ยน ผักเสี้ยนขาว (ภาคกลาง) ผักส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ).

ไม้ล้มลุก อายุหนึ่งปี ลำต้นตั้งตรง สูง 15-80 ซม. มีขนนุ่ม หรือ เกลี้ยง แตกกิ่งก้านสาขา. ใบ เป็นใบช่อ ปกติช่อหนึ่งจะมี 5 ใบ ใบย่อยรูปไข่กลับ กว้าง 1-3.7 ซม. ยาว 2-7.5 ซม. ปลายใบค่อนข้างเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบมีขน หรือ จักเป็นซี่ฟันละเอียด เนื้อใบบาง นุ่ม  เส้นใบมี 5-8 คู่ ก้านใบยาว 2-10 ซม. ก้านใบย่อยยาว 1-3 มม. มีขนนุ่มหนาแน่น. ดอก ออกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่ง ก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาว 1.5-2.5 ซม. มีขนนุ่ม กลีบรองกลีบดอกมี 4 กลีบ กว้าง 0.5-1.5 มม. ยาว 2.5-5 มม. ปลายนแหลม มีขนนุ่ม ที่ขอบมีขนยาว กลีบดอกสีขาว มี 4 กลีบ รูปรี ปลายกลม โคนแคบ กว้าง 1.5-4 มม. ยาว 7-15 มม. ความยาวนี้เป็นความยาวของก้านกลีบ 1.5-5 มม. กลีบจะชูขึ้นและเบนเข้าหาแกนกลาง มีก้านเป็นที่ติดของเกสรผู้และเมีย ยาว 9-16 มม. เกสรผู้มี 6 อัน ก้านชูเกสรผู้ยาว 1.5-2 ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว 2-3 มม. ก้านชูรังไข่ยาว 1-2 มม. รังไข่รูปทรงกระบอก กว้าง 0.5 มม. ยาว 3 มม. ผล รูปทรงกระบอก ปลายแหลมทั้ง 2 ข้าง กว้าง 3-6 มม. ยาว 2-11 ซม. ที่ปลายมีจงอยยาว 1-4 มม. เมล็ด กลมแบน วัดผ่าศูนย์กลาง 1.3 มม. สีน้ำตาลดำ ผิวย่น.

นิเวศน์วิทยา : เป็นวัชพืชในนาข้าว สองข้างทาง ตั้งแต่ความสูง 0-500 ม. ออกดอกและผลตลอดปี.

สรรพคุณ : ทั้งต้น แก้พิษแมลงป่องต่อยและงูกัด โลหิตระดูเน่าเสีย ปรุงเป็นยาขับหนองฝี ซึ่งเกิดขึ้นภายในทั้งปวง ราก เป็นยากระตุ้น แก้เลือดออกตามไรฟัน ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ลมอันเป็นพิษ ปรุงเป็นยาแก้โรคผอมแห้งในสตรี เนื่องจากคลอดบุตรแล้วอยู่ไฟไม่ได้. ใบ ใช้เป็นตัวยาแก้ปัสสาวะพิการ ขับเสมหะ ช่วยย่อย ใช้ทาถูนวดแก้ปวดเมื่อย เป็นยาพอกฝี พอกแก้ปวดเส้นประสาท ไข้ข้ออักเสบ แก้เริม งูสวัด น้ำคั้นผสมกับน้ำมันใช้หยอดหูแก้ปวด ดอก ปรุงเป็นยาฆ่าเชื้อโรค เมล็ด เป็นยาขับพยาธิ ผสมกับน้ำมันทาผมแก้เหา ทำเป็นยาชงดื่มเป็นยาขับเสมหะ เมล็ดแห้งแก้พิษงูกัด ใบและเมล็ด ผสมในยาพื้นบ้านเป็นยาทำให้อาเจียน

 

รูปภาพจาก:psu.edu,.baanlaesuan.com,สมุนไพร