หมูป่า

หมูป่า

หมูป่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กีบคู่


มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sus  scrofa Linnaeus
จัดอยู่ในวงศ์  Suidae
มีชื่อสามัญว่า  common wild pig หมูเถื่อนก็เรียก

ชีววิทยาของหมูป่า


หมูป่ามีรูปร่างเพรียว ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาวราว ๑.๕๐ เมตร หางยาวราว ๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๗๕-๑๐๐ กิโลกรัม  ความสูงช่วงไหล่ ๖๐-๗๕ เซนติเมตร บริเวณไหล่และอกใหญ่ เรียวไปทางด้านท้ายของลำตัว ขาเล็กเรียว ใช้สำหรับขุดคุ้ยหาอาหารใต้ดิน ขนยาว หยาบ แข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำปนเทา หรือสีดำแซมขาว มีขนยาวเป็นแผงบนสันคอและหลัง ขนบริเวณดังกล่าวนี้จะตั้งชันขึ้นเมื่อตกใจหรือเมื่อต่อสู้กับศัตรู เขี้ยวมีลักษณะยาว แหลมคมมาก โค้งงอนขึ้นไปนอกปาก   ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว บางตัวอาจมีเขี้ยวยาวถึง ๖ นิ้ว จมูกไว หูไว ชอบอาศัยตามป่าชื้น ที่ราบตามไหล่เขา หรือบริเวณหนองน้ำ อยู่เป็นฝูง ออกหากินตอนเช้าหรือเย็น   และตอนกลางคืน กลางวันมักหลบอยู่ตามพุ่งไม้ ตามปลักตม หรือลำธาร ชอบเกลือกปลักตม ตัวผู้ที่อายุมากกๆจะแยกออกไปหากินตามลำพัง เรียก หมูป่าโทน หรือ หมูโทน ตัวเมียอายุมากๆเป็นจ่าฝูง ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ต่อสู้กัน และจะดุร้ายเมื่อบาดเจ็บ หมูป่าแม่ลูกอ่อนจะดุร้ายกว่าปรกติและจะหวงลูกมาก ชอบขุดคุ้ยดินหาอาหาร กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ผลไม้  ข้าวโพด  เผือก กล้วย มัน งู หนู ไส้เดือน กบ เขียด ปลา  หมูป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ผสมพันธุ์กันถี่ที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม เริ่มโตผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๘-๑๐ เดือน ตั้งท้องนาน ๑๑๕ วัน ตามธรรมดาตกลูกครั้งละ ๔-๘ ตัว ลูกหย่านมเมื่ออายุ ๓-๔ เดือน หมูป่าอายุยืนราว ๑๕ ปี

ประโยชน์ทางยา


แพทย์แผนไทยรู้จักใช้หนังหมูป่า  ดีหมูป่า และเขี้ยวหมูป่าเป็นเครื่องยา ดังนี้
๑. หนังหมูป่า เช่น ยาต้มแก้สันนิบาตโลหิตขนานหนึ่งใน พระคัมภีร์ชวดาร เข้า “หนังหมุเถื่อน” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้ ยานั้นคุลีการเปนยาดับพิษลมพิษเสมหะอันร้อนนอนมิหลับบริโภคอาหารมิได้   ให้แต่งยาต้มรับประทานเวลาเช้า   เอาหีบลม ๑   หนังหมูเถื่อน ๑   รากเจ็ตมูลเพลิงแดง ๑   รากช้าพลู ๑   เอาสิ่งละ ๑ บาท   ข่า ๕ บาท   ดอกคำ ๑๐ สลึง   เทียนดำ ๒ บาท   ผลกระดอม ๑   ก้านสะเดา ๑   ผลสมอเทศ ๑   ผลสมอไทย ๑   ผลสมอพิเภก ๑   ยาเช้าเย็นเหนือ ๑   เอาสิ่งละ ๑ บาท   ดอกบัวแดง ๑   ดอกบัวขาว ๑   ดอกบัวขาว ๑   ดอกบัวเผื่อน ๑   ดอกพิกุล ๑   ดอกบุนนาค ๑   ดอกสารภี ๑   เอาสิ่งละ ๖ สลึง  ต้มด้วยน้ำเถาวัลย์เปรียงแซกดีเกลือตามกำลังวัน  รับประทานชำระเม็ดยอดตกลิ้น   แล้วจึงประกอบยามหาสมมิทใหญ่   แก้ไข้แก้ลม   ให้รับประทานเปนคู่กับยาต้ม

๒. ดีหมูป่า   เช่น   ยาขนานหนึ่งชื่อ “ยาประสานทอง”   ใน พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ เข้า “ดีหมูเถื่อน” เป็นเครื่องยาด้วย   ดังนี้
ยาชื่อประสานทอง   ขนานนี้ท่านให้เอา   ชะมดสด ๑   ชะมดเชียง ๑   เอาสิ่งละ ๑ เฟื้อง   พิมเสน ๑ สลึง   กรุงเขมา ๑   อำพัน ๑   ดอกบุนนาค ๑   น้ำประสานทอง ๑   ลิ้นทะเลปิ้งไฟ ๑   เอาสิ่งละ ๒ สลึง   ตรีกฏุก ๑   โกศทั้ง ๙   เทียนทั้ง ๕   ผลจันทน์ ๑   ดอกจันทน์ ๑   กระวาน ๑   กานพลู ๑   จันทน์ทั้ง ๒   กฤษณา ๑   กระลำพัก ๑   ชะลูด ๑   ขอนดอก ๑   เปราะหอม ๑   ผลราชดัด ๑   ผลสารพัดพิษ ๑   พญารากขาว ๑   ปลาไหลเผือก ๑   ตุมกาทั้ง ๒   คุคะ ๑   มหาสดำ ๑   มหาละลาย ๑   รากระย่อม ๑   รากไคร้เครือ ๑   ว่านกีบแรด ๑   ว่านร่อนทอง ๑   ว่านน้ำ ๑   แสนประสะต้น ๑   แสนประสะเครือ ๑   สุรามฤตย์ ๑   อบเชยเทศ ๑   เอาสิ่งละ ๑ บาท   ทองคำเปลว ๒๐ แผ่น   รวมยา ๖๑ สิ่งนี้กระทำเปนจุณ   แล้วเอาดีงูเหลือม ๑   ดีจระเข้ ๑   ดีตะพาบน้ำ ๑   ดีหมูป่าเถื่อน ๑   ดีปลาช่อน ๑   ดีนกยูง ๑   ดีทั้ง ๖ นี้แซก   เอาน้ำเปนกระสาย   บดปั้นแท่งไว้   แก้พิษทราง   แลแก้ไข้สันนิบาต   ละลายน้ำดอกไม้กิน   ถ้าแก้พิษฝีดาษ   พิษฝีดวงเดียว   พิษงูร้ายละลายสุรากิน   ทุกสิ่งประสิทธิ์ดีนัก
๓. เขี้ยวหมูป่า   เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในพิกัดไทยที่เรียก “นวเขี้ยว” หรือ “เนาวเขี้ยว”  ได้แก่ เขี้ยวหมูป่า  เขี้ยวหมี   เขี้ยวเสือ  เขี้ยวแรด  เขี้ยวหมาป่า  เขี้ยวปลาพะยูน   เขี้ยวจระเข้  เขี้ยวเลียงผา  และงาช้าง  (ดู คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม๑ น้ำกระสายยา)

 

รูปภาพจาก:pixabay.com,pralanna.com