ลำต้นสัณฐานของลำต้น

ลำต้นสัณฐานของลำต้น 

ลำต้นเป็นโครงสร้างหลักของพืช เป็นส่วนที่มีกิ่งก้าน ใบ ดอก และผลติดอยู่ เป็นอวัยวะของพืชที่มีความแตกต่างกันได้มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านขนาด ตำแหน่ง (เมื่อเทียบกับระดับผิวดิน) อายุ ทิศทางการเจริญเติบโต ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ ลำต้นที่มีเนื้อไม้แข็ง ประกอบด้วยเปลือกไม้อยู่ด้านนอก และเนื้อมาอยู่ด้านใน ส่วนของเนื้อไม้ที่หุ้มแก่น (เนื้อไม้ที่อยู่ระหว่างเปลือกไม้กับแก่น) มีลักษณะอ่อนและยุ่ยง่าย เรียก กระพี้ ถัดจากกระพี้เข้าไปเรียก แก่น เนื้อไม้แข็งและมีสีเข้ม เราอาจจำแนกส่วนต่างๆ ของลำต้นเป็น ส่วนผิวของลำต้นหรือกิ่ง และส่วนหลักของลำต้น อันได้แก่ เปลือกไม้ ไส้ไม้ และเนื้อไม้ และโครงสร้างที่อาจมีส่วนสำคัญ ในการจำแนกชนิดที่ถูกต้องของพืชสมุนไพรลางชนิด ก็คือ ส่วนผิวของลำต้นหรือกิ่งกับเปลือกไม้ ดังนี้

๑.ส่วนผิวของลำต้นหรือกิ่ง โดยทั่วไปอาจพบ ตา (ส่วนของยอดอ่อนที่ยังไม่เจริญเต็มที่) ข้อ (บริเวณของลำต้นอันเป็นจุดที่ใบหรือดอกแตกออกมา) ปล้อง (ส่วนหรือบริเวณของลำต้นที่อยู่ระหว่างข้อ) ช่องอากาศ (ช่องใต้เซลล์ปากใบของเปลือกต้น ทำหน้าที่หายใจ) รอยแผลใบ (ร้อยที่แสดงตำแหน่งอันเคยเป็นที่ติดของใบ) และหนาม (ส่วนที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นนอกของลำต้นหรือกิ่ง)

๒. เปลือกไม้ เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านนอกของเนื้อไม้ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ เปลือกไม้ชั้นนอก และเปลือกไม้ชั้นใน เราอาจแบ่งลักษณะการแตกของเปลือกไม้ชั้นนอกออกได้หลายแบบ เช่น เปลือกไม้เรียบ (แบบนี้ผิวเรียบ ไม่แตก แต่อาจมีช่องอากาศบ้าง เช่น เปลือกไม้ของต้นนุ่น) เปลือกไม้เป็นร่องลึก (แบบนี้แต่เป็นร่องลึกตามยาวคล้ายรอยไถ เช่น เปลือกไม้ของต้นสนสองใบ) เปลือกไม้เป็นแผ่น(แบบนี้ เป็นร่องทั้งตามยาวและตามขวาง หลุดออกมาเป็นแผ่น เป็นแผ่นสี่เหลี่ยม หรือหลายเหลี่ยม เช่น เปลือกไม้ของต้นสนสามใบ) เปลือกไม้เป็นเกล็ด(แบบนี้แตกแล้วหลุดออกเป็นวง เช่น เปลือกไม้ของต้นฝรั่ง) เปลือกไม้ลอกเอง(แบบนี้ลอกเป็นแผ่นกว้างและม้วนตัวตามยาวติดกับต้นอยู่ระยะหนึ่งถึงร่วงไป เช่น เปลือกไม้ของต้นยูคาลิปตัส)

ลำต้นหรือส่วนของลำต้นของพืชลางชนิดอาจมีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากเปลี่ยนไปเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่พิเศษอย่างอื่น ลักษณะที่อาจใช้จำแนกชนิดของพืชสมุนไพรลางชนิด เช่น
๑.ลำต้นหรือส่วนของลำต้นเปลี่ยนรูปใบคล้ายใบและทำหน้าที่ของใบมี ๓ แบบ ได้แก่
ก.แบบปล้องเดี่ยวเปลี่ยนไปมีสีเขียวคล้ายใบ เช่น ต้นปริก
ข.แบบหลายปล้องติดการเปลี่ยนไปมีสีเขียวคล้ายใบ เช่น ต้นตีนตะขาบ และ
ค.แบบทั้งต้นเปลี่ยนไปมีสีเขียวคล้ายใบ เช่นต้นเสมา
๒.ลำต้นเปลี่ยนไปทั้งหน้าที่ยึดเกาะหรือป้องกันตัว ได้แก่
ก.ลำต้นมีกิ่งที่เปลี่ยนไปเป็น “มือจับ” ทำหน้าที่ยึดเกาะ เช่น ต้นพวงชมพู
ข.ลำต้นทอดยาวเลื้อยพันสิ่งที่อยู่ใกล้ เช่น เถาตำลึง และ
ค. ลำต้นที่มีกิ่งเจริญไปเป็นหนาม หรือ “ขอเกี่ยว” ใช้เกาะหรือเกี่ยวสิ่งต่างๆ เช่น หนามต้นเฟื่องฟ้า ขอเกี่ยวต้นรากเวก หนามของพืชลางชนิดไม่ได้เกิดจากส่วนของกิ่งทั้งหมด แต่เกิดจากเนื้อเยื่อผิวนอก เช่น หนามกุหลาบ หนามลางชนิดเกิดจากส่วนอื่นของพืช เช่น หนามใบกุหลาบ หนามใบเหงือกปลาหมอ

๓.ลำต้นเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่สืบพันธุ์ เช่น ไหล (ลำต้นทอดเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ มีรากงอกตรงข้อ สามารถขยายพันธุ์ต้นใหม่ได้ เช่น รากหญ้าแพรก ต้นจอก ต้นบัวบก) หน่อ(ลำต้นเล็กๆที่แตกออกมาตรงโคนของต้นเดิม ซึ่งอยู่ใต้ดิน แยกไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้ เช่น หน่อกล้วย) ตะเกียง(ลำต้นที่จะเดินออกมาเพียงปล้องเดียว แล้วเกิดเป็นตา เจริญเป็นต้นใหม่ เช่น ตะเกียงสับปะรด) ต้นย่อยหรือหน่อย่อย หัวย่อย (ลำต้นที่เจริญมาจากตาพิเศษ อาจพบที่ซอกใบ ขอบใบ หรือก้านช่อดอก เจริญเป็นต้นเล็กๆ เมื่อตกลงดินจะง่วงและเจริญเป็นต้นใหม่ได้ เช่น ต้นตีนตุ๊กแก )
๔. ลำต้น เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่สะสมอาหารมีหลายแบบ เช่น เหง้า ( ลำต้น ใต้ดินที่เจริญทอดยาวขนานไปกับผิวดิน แตกแขนงได้มาก มีรูปร่างไม่แน่นอน สามารถแทงหน่อขึ้นมาเป็นต้นใหม่ได้ เช่น ข่า) หัวแบบมันฝรั่ง (ลำต้นใต้ดินที่มีแขนง ปลายแขนงพองออกเป็นหัวยาว ไม่กลม เช่น มันฝรั่ง) หัวแบบเผือก (ลำต้นใต้ดินตั้งตรง ขยายเป็นหัว เห็นข้อปล้องชัดเจน ตรงส่วนยอดจะหดสั้น เจริญให้ใบขึ้นไปเหนือดินได้ มีลักษณะกลม เช่น เผือก) หัวแบบหอม (ลำต้นใต้ดินที่มีขนาดเล็ก ตั้งตรง ห่อหุ้มด้วยโคนก้านใบที่พองหนาและมีเนื้อนิ่มจำนวนมาก เช่น กระเทียม)

 

 

รูปภาพจาก:clipmass.com,bg.com,eyeem.com,bloggang.com