ครั่ง

ครั่ง

ครั่งเป็นแมลงในสกุล  Laccifer  มีหลายชนิด
จัดอยู่ในวงศ์ Lacciferidae
เดิมวงศ์  Coccidae
ครั่งที่ผลิตในเชิงการค้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้จากแมลงชนิด Laccifer chinensis Mahdihassan ส่วนที่ผลิตในเชิงการค้าในประเทศอินเดียและประเทศอื่นเป็นแมลงชนิด Laccifer lacca kerr หรือชนิด Laccifer indica kapur หรือแมลงในสกุล Laccifer ชนิดอื่นๆ

ชีววิทยาของครั่ง
วงจรชีววิทยาของครั่ง เริ่มที่ตัวอ่อนฟักตัวออกจากไข่ในท้องของตัวแม่ ที่ฝังตัวอยู่ในครั่งที่มีครั่งหุ้มอยู่รอบๆ ตัวอ่อน มีรูปร่างคล้ายสามง่าม ยาวราวครึ่งมิลลิเมตร ลำตัวมีสีชมพูอมแดงไปจนถึงสีแดงเลือดนก ลำตัวมี ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ตัว และท้อง มีขา ๖ ขา มีตา ๒ ตา มีปากยาวคล้ายปลายเข็ม มีหนวดคู่อยู่ปลายหัวและมีขนยาวที่งอกจากปล้องเกือบถึงปลายหนวด ทำให้ดูเหมือนหนวดแยกเป็นแฉก ที่ปลายท้องมีหางค่อนข้างยาว ๑ คู่ ตัวอ่อนเคลื่อนไหวได้อย่างเชื่องช้า หลังจากลอกคราบครั้งแรกแล้วจะไม่มีขา

ครั่งตัวอ่อนใช้ปากที่มีลักษณะเหมือนเข็ม เจาะทะลุเปลือกไม้เข้าไปจนถึงเนื้อเยื่อลำเลียง แล้วดูดเอาน้ำเลี้ยงของพืชมาเลี้ยงตลอดชีวิต จากนั้นก็ปล่อยไขคล้ายเทียนไขที่เรียกกันว่า ครั่ง (lac) ออกจากต่อมที่อยู่ในตัวเพื่อห่อหุ้มตัวเอง เป็นรังครั่งมี ๒ แบบ คือ รังครั่งตัวผู้ และ รังครั่งตัวเมีย ในสัดส่วนราว ๓:๗ ต่างกันตามความสั้นยาวของรัง ตัวผู้ก่อรังออกไปทางด้านราบ ยาวกว่ารังครั่งตัวเมีย มีทางออกเป็นรังครั่งสีขาวข้างท้ายรังสำหรับเป็นทางออกของตัวเต็มวัยตัวผู้ ส่วนตัวเมียก่อรัวไปทางด้านสูง มีช่องอยู่ ๓ ช่อง สองช่องด้านบนเป็นช่องลมสำหรับให้อากาศถ่ายเท ส่วนช่องที่ ๓ เป็นช่องสำหรับขับถ่ายของเสีย มีเส้นคล้ายขี้ผึ้งสีขาว ทอดยื่นขึ้นมาจากช่อง ๓ ช่องนี้ เส้นเหล่านี้ช่วยมิให้ไขที่ปล่อยออกมาปิดช่องลมและช่องถ่าย กันมิให้ช่องเหล่านี้ตัน เส้นเหล่านี้บางทีก็ยื่นออกมามาก จนทำให้เห็นปมครั่งที่เกาะอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีขาวสะพรั่งไปหมด ครั่งตัวเมียจะอยู่ในรังตลอดชีวิต

เมื่อครั่งตัวผู้ทำรังได้ราว ๖-๘ สัปดาห์ ก็จะเปลี่ยนสภาพจากตัวอ่อนเป็นดักแด้ จากนั้นอีกราว ๔ สัปดาห์ ครั่งตัวผู้ที่ออกจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัยมีขนาดเล็กกว่าตัวเต็มวันเล็กน้อย มีขา หนวด และตา และบางครั้งก็มีปีก จะคลานถอยหลังออก จากรังแล้วเข้าไปในรังของครั่งตัวเมียทางช่องขับถ่าย เมื่อผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ก็ออกจากรังตัวเมีย ก่อนที่จะตายภายใน  ๒-๓  วัน

ส่วนครั่งตัวเมียนั้น เมื่ออายุ ๖-๘ สัปดาห์ ก็จะปล่อยไขออกมามาก ทำให้เห็นเป็นปมพอกสูงขึ้นอย่างจรวด ทำให้ครั่งตัวเมียมีลักษณะคล้ายถุง จากนั้นครั่งตัวเมียจะหดตัว ก่อให้เกิดที่ว่างขึ้นสำหรับเป็นที่วางไข่และฟักไข่ จนเป็นครั่งตัวอ่อน ครั่งตัวเมียนี้อยู่ในรังจนถึงวันที่ตัวอ่อนคลานออกจากรัง ก็จะหมดหน้าที่แล้วตายอยู่ในรังนั่นเอง โดยไม่เคยออกมาภายนอกเลย รวมเวลาตั้งแต่เริ่มทำรังจนกระทั่งตายในวันสุดท้ายที่ส่งลูกอ่อนออกจากรังราว ๖ เดือน

โดยทั่วไป ในรังหนึ่งๆ มีครั่งตัวอ่อนอยู่รวมกันราว ๒oo-๕oo  ตัว ครั่งเหล่านี้จะทยอยออกจากรัง ซึ่งอาจกินเวลานอน ๒-๓  สัปดาห์ แต่มีเพียงช่วงหนึ่ง ในราว ๔-๕  วัน ที่ครั่งตัวอ่อนคลานออกมาจากรังมากที่สุด เมื่อครั่งตัวอ่อนเหล่านี้ออกมาจากรังแล้ว จะค่อยๆคลานไปหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม คือกิ่งไม้ที่อวบอ่อน เปลือกไม้แข็งและอ่อนเกินไป บางครั่งครั่งตัวอ่อนอาจคลานออกจากกิ่งระลงมาถึงโคลนต้น แล้วคลานกับขึ้นไปใหม่ จนมองเห็นเป็นสีแดงอ่อนๆเต็มไปหมด ซึ่งอาจใช้เวลาหาที่อยู่ราว ๒-๓ วันในตอนแรก รังครั่งแต่ละรังอยู่บนกิ่งไม้ห่างๆกัน เมื่อรังโตขึ้นเนื่องจากชันครั่งที่ปล่อยออกมามีมากขึ้นๆ ก็จะค่อยๆขยายใหญ่ทำให้เห็นปมเป็นตะปุ่มตะป่ำติดกันเป็นพืดตลอดกิ่ง 

พรรณพฤกษชาติของประเทศไทยที่ครั่งเจริญเติบโตได้ดี นิยมใช้เลี้ยงครั่ง คือ ต้นก้ามปูหรือจามจุรีแดง (samanea saman  Merr.) ต้นพุทธา (Ziziphus  mauritiana  Lam.) ต้นทองกวาว [Butea monosperma  (Lam.) Taub.] ต้นตะคร้อ [schlei chera oleosa (Lour.) Oken] ต้นสีเสียด [Acacia catechu (L.f.) Willd.] ต้นมะแฮะนก  [Flemingia macrophylla (willd.) Prain] และต้นถั่วแระต้น [Cajanus cajan (L.) Millsp.]

ผลิตภัณฑ์จากครั่ง
กิ่งไม่ที่มีครั่งที่เก็บได้นั้น มักนำมามัดรวมๆกัน แช่น้ำไว้ก่อนราว ๒-๓  วัน ใช้ของหนักทับจมไว้อยู่ใต้น้ำ ๑๕-๓o  เซนติเมตร เพื่อกำจัดแมลงบางชนิดที่อาจอยู่ในรังครั่ง   แมลงอื่นๆเหล่านี้อาจลอยขึ้นมาเหนือน้ำ หรือตายภายในครั่ง แมลงอื่นๆเหล่านี้อาจทำให้ครั่งที่ได้อาจมีคุณภาพเสื่อมลง ครั่งที่แกะออกจากกิ่งไม้จะถูกนำไปเกลี่ย (ให้สูงราว ๑o-๑๕ เซนติเมตร) ผึ่งในที่ร่ม โปร่ง ไม่ถูกแดด บนพื้นที่สะอาด อันอาจเป็นพื้นดิน พื้นไม้ หรือพื้นซีเมนต์ก็ได้ ใช้คราดเกลี่ยบ่อยๆ ในช่วงนี้น้ำหนักครั่งจะลดลงครั่งที่ได้ในขั้นนี้ เรียกครั่งดุ้น (stick lac) ซึ่งอาจประกอบด้วย ชันครั่ง (lac resin) สีครั่ง (lac dye) ขี้ผึ้ง (wax) ซากที่แม่ครั่งที่ตายอยู่ในรัง กิ่ง เปลือกไม้ และเศษไม้ที่แกะติดออกมา เป็นต้น

ครั่งที่แกะออกจากกิ่งไม้ที่กองสุมอยู่ตามกิ่งไม้จะรวมตัวกัน จับกันเป็นก้อนแข็งขึ้นๆ เรียก ครั่งก้อน ทำให้คุณภาพเสื่อมลงเรื่อยๆ ครั่งดิบที่ได้มักเตรียมเป็น ครั่งเม็ด  (seed  lac) โดยการบดและผ่านแร่ง (เครื่องร่อนของละเอียด) ทำให้ครั่งดิบเป็นก้อนโตเสมอกันขนาดราว ๓.๖  มิลลิเมตร แล้วล้างน้ำหลายๆครั้ง จนสีครั่งออกหมด เติมเกลือแกงประมาณ ๒ เท่า ของปริมาณครั่งในการล้างน้ำครั้งสุดท้าย คลุกเคล้ากันในราว ๕ นาที ปล่อยให้น้ำนิ่ง ครั่งจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ จึงช้อนออก ล้างด้วยน้ำจนหมดรสเค็ม

ก่อนผึ่งแดด ลางถิ่นอาจล้างครั่งเม็ดที่ได้นี้ด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) ความเข้มข้นร้อยละ ๕ ทำให้สีของครั่งสดใสมากขึ้น แต่ต้องล้างน้ำอีกหลายครั้งจนหมดฤทธิ์ด่าง แล้วจึงผึ่งไว้บนเสื่อหรือพื้นซีเมนต์ ในที่ร่มที่มีลมโกรกโดยใช้คราดเกลี่ยบ่อยๆจนแห้ง จะได้ครั่งเม็ด ประมาณว่าครั่งดุ้นในราว ๘  กิโลกรัม   เตรียมเป็นครั่งเม็ดได้ราว ๕ กิโลกรัม น้ำสีแดงที่ได้จากการล้างดุ้นนั้น อาจนำไปแยกสีแดงได้โดยการตกตะกอนด้วยปูนขาวหรือน้ำปูนขาว

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากครั่งเม็ดมีอีก ๒ อย่าง คือ

  • เชลแล็ก (shellac) เป็นแผ่นครั่งบริสุทธิ์ ไม่มีวัตถุอื่นใดเจือปน เตรียมจากครั่งเม็ดที่นำมาหลอมด้วยครั่งร้อนจนละลาย แล้วยื่นออกเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งอาจทำด้วยเครื่องจักรหรือด้วยมือก็ได้

  • ครั่งแผ่น (button  lac) เป็นครั่งที่หลอมออกมาแล้ว ทำเป็นแผ่นกลมลักษณะคล้ายกระดุม ขนาดวัดผ่านจุดศูนย์กลางราว ๗.๕ เซนติเมตร หนาราว ๖ มิลลิเมตร  วิธีการทำก็เหมือนกับวิธีการทำเชลแล็ก แต่เอาครั่งบริสุทธิ์ที่ร้อนอยู่ หยดลงบนแผ่นเหล็กหน้าเรียบที่สะอาดและขัดเป็นเงาขึ้นมัน ขนาดตามต้องการ ก่อนที่ครั่งจะแข็งตัวอาจตอกและประทับตราเครื่องหมายใดๆก็ได้

องค์ประกอบทางเคมีในครั่ง
ในครั่งมีกรดอินทรีย์หลายชนิด ที่มีมากคือ กรดแล็กคาอิกเอ (laccaic  acid  A) กรดแล็กคาอิกบี (laccaic  acid  B) กรดแล็กคาอิกซี (laccaic  C) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของแอนทราควิโนน (anthraquinium  lake) ของครั่ง เรียก แล็กคาร์ไมน์ (laccamine) ซึ่งมีสีม่วงแดงคล้ำ

ประโยชน์ทางยา
ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า ครั่งมีรสฝาด มีสรรพคุณบำรุงโลหิต ห้ามเสมหะ คุมอาจม แพทย์ชนบทใช้ครั่งดิบปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง  ท้องเสีย  แก้บิด และแต่งสียาให้เป็นสีชมพู ลางตำราว่า ครั่งที่เกิดจากก้ามปูนั้น ใช้กินแก้ไอ แก้ข้อหักซ้น

ใน  พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ ให้ “ยาแก้ลง” หรือแก้ท้องร่วงท้องเสียขนานหนึ่งเข้า “ครั่ง” เป็นยาเครื่องด้วย ดังนี้ ขนานหนึ่งแก้ลง เอาผลจันทร์ ๑ ผลเบ็ญกานี ๑ เปลือกมะขามเกาะ ๑ ครั่ง ๑ เปลือกผลทับทิม ๑ เปลือกมังคุด ๑ กำยาน ๑ ผลตะบูน ๑ ฝิ่น  ๑ เอาส่วนเท่ากันบดปั้นแท่ง ละลายน้ำบดผลทับทิมแก้ลง หายแล น่าสังเกตว่า ยาขนานนี้เข้าเครื่องยาหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่รู้กันในปัจจุบันว่ามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นสารฝาด (tannin) มีสรรพคุณฝาดสมาน ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ได้ เช่น ลูกเบ็ญกานี  เปลือกมังคุด เปลือกผลทับทิม นอกจากนั้นสารทับทิมในฝิ่นยังมีฤทธิ์แก้ท้องเสียด้วย

 

รูปภาพจาก:nuks.nu.ac.th,aopdb05.doae.go.th