สมุนไพรบุก

บุก

บุก (Amorphophallus campanulatus) Bl. Ex Dacne.
บางถิ่นเรียก บุก (กลาง) บุกคุงคก (ชลบุรี) เบีย เบือ (แม่ฮ่องสอน) มันชูรัน (กลาง) หัวมัน (ปัตตานี).

เป็นไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน ต้นอวบอ้วน หัวใต้ดินสีน้ำตาล รูปครึ่งวงกลม วัดผ่าศูนย์กลางหัว 15-30 ซม. หรือมากกว่านั้น ใบ ก้านใบยาว 150-180 ซม. ด่างเป็นดวง ๆ สีเขียว ใบแผ่แบนแจ้คล้ายกางร่ม และหยักเว้าเป็นแฉก ๆ คล้ายขนนก กว้าง 150-180 ซม. สีเขียวอ่อนแฉกเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือ รูปรี ปลายแฉกแหลม. ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อสั้น กาบหุ้มช่อดอกเป็นรูปกรวย กว้าง 30-45 ซม. ยาว 30 ซม. ขอบกาบหยักเป็นคลื่นและกางออกถัดลงไปเป็นสีชมพูและเขียวประด้วยจุดขาว ๆ ตอนบนสีแดงอมน้ำตาล หรือ ม่วง ช่อดอกเป็นแผ่นยาวพอ ๆ กับกาบหุ้มช่อ ปลายช่อดอกรูปกรวยคว่ำขนาดใหญ่ ยับเป็นร่องลึก สีแดงอมน้ำตาล หรือสีม่วงเข้ม ดอกเพศผู้อยู่ตอนบน ดอกเพศเมียอยู่ตอนล่างถัดจากดอกเพศผู้ลงไป ไม่มีดอกฝ่อคั่นกลาง ดอกกลิ่นเหม็นคล้ายซากเน่า. ผล เป็นผลสดเนื้อนุ่ม สีแดง ยาวประมาณ 3.2 ซม.จำนวนมาก ติดเป็นช่อยาว 75-100 ซม.

นิเวศน์วิทยา : บุกขึ้นตามป่าทั่วไป.

สรรพคุณ : หัว เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม แก้บิด แก้โรคไขข้ออักเสบ บำรุงกำลัง แก้ริดสีดวงทวาร เมื่อยังสดอยู่ ใช้เป็นยากระตุ้น ขับเสมหะ หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดหนองได้ดี เป็นยาพอก และน้ำจากหัวต้มผสมกับยางน่องใช้ยิงสัตว์ เช่น สิงโต แรด ชาวอินเดีย ชวา และฟิลิปปินส์ ปลูกเพื่อรับประทานเป็นอาหาร ก้านใบ ลอกเปลือกออกใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ราก ใช้พอกฝี และ ขับระดู นอกจากนั้นยังใช้แก้ริดสีดวงทวาร

 

รุปภาพจาก:disthai.com,olgablik.com