สมุนไพรโมกเครือ

สมุนไพรโมกเครือ

โมกเครือ (Aganosma marginata G. Don)
บางถิ่นเรียกว่า โมกเครือ มะเดื่อดิน มะเดื่อเถา (ราชบุรี) เดื่อดิน (ใต้ พายัพ) เดื่อเครือ เดื่อเถา เดื่อไม้ (เหนือ) เดือยดิบ (กระบี่) ไส้ตัน (อีสาน โคราช) ย่านเดือยบิด (สุราษฎร์) พิษ(กลาง)

เป็นไม้เถา เนื้อแข็ง มีน้ำยางสีขาว เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น. ใบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ สีเขียวสด รูปขอบขนาน กว้าง 2-4.5 ซม. ยาว 5-12.5 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมน หรือ กลม ขอบเรียบ ด้านบนเกลี้ยง หรือ มีขนประปราย ด้านล่างมีขนสั้น ๆ เส้นใบ 10-16 คู่ โค้งบรรจบกันที่ใกล้ขอบใบ ก้านใบเรียวเล็ก ยาว 5-8 มม. มีขน ดอก ออกเป็นช่อที่ยอด หรือ ตามง่ามใบ ยาว 5-10 ซม. มีขน  ก้านช่อยาว 2-5 ซม. กลีบรองกลีบดอกยาว 4-5 มม. โคนเชื่อมติดกันเพียงเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก มีขน กลีบดอกสีขาวเกลี้ยง คล้ายดอกโมก เชื่อมติดกันเป็นท่อเล็ก ๆ ยาว 6-8 มม. โคนสุดเป็นกะเปาะ ปลายแยกเป็นกลีบแคบ ๆ 5 กลีบ ยาว 12-18 มม. ดอกตูมกลีบดอกจะบิดไปในทางเดียวกัน เกสรผู้ 5 อัน รูปหัวลูกศร เกสรเมียเกลี้ยง. ผล เป็นฝักยาว ออกเป็นคู่ แก่จะแยกเป็น 2 ซีก เมล็ดรูปขอบขนาดค่อนข้างยาว ปลายข้างหนึ่งมีขนยาว 3-4 มม. ติดเป็นกระจุก

นิเวศน์วิทยา  ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วๆ ไป

สรรพคุณ  แพทย์แผนโบราณของไทยใช้เข้ายาแก้ประดงและฝีภายใน. ใบ เข้ายาแก้ริดสีดวงงอก แก้เมื่อยขบ แก้ผื่นคัน ขับปัสสาวะ ราก ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้โรคเดินปัสสาวะ บำรุงเจริญอาหาร เป็นยาระบาย ขับระดู แก้ขัดเบา แก้ไข้ ขับระดู แก้ไตและตับพิการ

 

รูปภาพจาก:biogang.net,fca16mr.com,สมุนไพร