หมีที่พบในประเทศไทย

หมีที่พบในประเทศไทย

๑. หมีควาย

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Selenarctos  thibetanus (G. Cuvier)
มีชื่อพ้อง Ursus  thibetanus  G. Cuvier
ชื่อสามัญว่า Asiatic black  bear
ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๑.๒๐-๑.๕๐ เมตร หางยาว ๖.๕-๑๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๖๐-๑๐๐ กิโลกรัม หัวค่อนข้างแบน แคบ ปากยาวกว่าหมีหมา ขนรอบจมูก คาง และบริเวณเหนือตามีสีขาว ใบหูใหญ่ ขอบกลมมน ตามลำตัวมีขนยาวสีดำ หน้าอกมีขนสีขาวรูปตัววี  (V)  แต่ละขามี ๕ นิ้ว มีเล็บขนาดใหญ่โค้ง ปลายแหลม   ไม่หดกลับ หมีควายชอบออกหากินตามลำพังในตอนกลางคืน  ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์  กลางวันมักหลบซ่อนอยู่ในโพรงดิน ตามโคลนรากของต้นไม้ใหญ่หรือตามโพรงหิน บางครั้งออกมาหากินผลไม้สุกหรือรังผึ้งในเวลากลางวัน ปีนต้นไม้เก่ง เดินด้วยขาทั้ง ๔ ข้าง เมื่อสู้กับศัตรูจะยืนด้วยขาหลังทั้งสองขา แล้วใช้ฝ่าตีนของขาหน้าตะปบศัตรู  อาหารที่กินเป็นผลไม้  น้ำผึ้ง  กวาง เก้ง  หมูป่า ปลา  หมีควายโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุราว ๓ ปี ตั้งท้องนาน ๗-๘ เดือน  ตกลูกครั้งละ ๑-๒ ตัว ออกลูกในถ้ำ หรือในโพรงไม้   อายุยืนราว ๓๐ ปี พบในทุกภาคของไทย ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ทิเบต เกาหลี  จีน  ญี่ปุ่น ไต้หวัน


๒. หมีหมา

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helarctos  malayanus  (Raffles)
มีชื่อพ้อง  Ursus  malayanus  Raffles
ชื่อสามัญว่า  Malayan  sun  bear
หมีคน ก็เรียกเป็นหมีชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๑-๑.๔๐ เมตร  หางยาว ๓-๕ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๓๐-๔๐กิโลกรัม หัวกลม   ปากสั้น ตามลำตัวมีขนยาวสีดำ หน้าอกมีขนสีขาวหรือสีขาวอมเหลืองเป็นรูปตัวยู (U) แต่ละขามี ๕ นิ้ว มีเล็บขนาดใหญ่ โค้ง ปลายแหลม ไม่หดกลับ มีเต้านม ๔ เต้าบริเวณหน้าอกและหน้าท้อง หมีหมาชอบออกหากินเป็นคู่ในตอนกลางคืน   ลางครั้งพบในเวลากลางวันบ้าง ปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว ทำรังนอนโดยดึงกิ่งไม้ เปลือกไม้   มาวางไว้ใต้ท้อง   แล้วปล่อยขาห้อยคร่อมกิ่งไม้ไว้ โดยเอาคางเกยไว้ตรงง่ามไม้   ยืนด้วย ๒ ขาได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องการมองในระยะไกลหรือมองหาศัตรู เวลาเข้าทำร้ายจะส่งเสียงร้องเหมือนสุนัข อาหารที่กินเป็นพวกผลไม้ แมลง  ผึ้ง  ปลวก ใบไม้ สัตว์ขนาดเล็ก  หมีหมาโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุราว ๓-๕ ปี ตั้งท้องนานราว ๙๕ วัน ตกลูกครั้งละ ๑-๒ ตัว อายุยืนราว ๒๐ ปี พบในทุกภาคของไทย  แต่มักพบมากทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ   จีน   มาเลเชีย และอินโดนีเชีย

 

ดีหมีในยาจีน

ดีหมีเป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งที่ใช้ในยาจีน มีราคาแพงมากและหายาก เครื่องยานี้มีชื่อภาษาละตินตามตำรายาว่า Fel  Ursi มีชื่อสามัญว่า bear  gall  จีนเรียก สงต่าน  (สำเนียงแมนดาริน) ได้จากถุงน้ำดีของหมี ๒ ชนิด คือ หมีควาย [Selenarctos  thibetanus (G. Cuvier)] และหมีสีน้ำตาล หรือ brown bear (Ursus  arctos  Linnaeus) วงศ์ Ursidae ชนิดหลังไม่พบในธรรมชาติในประเทศไทย ดีหมีที่ได้จากมณฑลยูนนาน ส่วนใหญ่เป็นดีของหมีควาย จัดเป็นดีหมีที่มีคุณภาพดีที่สุด ในทางการค้า เรียก อวิ๋นต่าน  (ดีจากยูนนาน) แต่ดีหมีที่มีขายในท้องตลาดมักได้จากหมีที่พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเฉพาะมณฑลเฮย์หลงเจียงและมณฑลจี๋หลิน ส่วนใหญ่ได้จากหมีสีน้ำตาล ในทางการค้าเรียก ตงต่าน  (ดีจากภาคตะวันออก) ซึ่งมีปริมาณมากกว่า

 

ลักษณะของดีหมี

ดีหมีแห้งมีรูปร่างกลม ยาวรูปไข่  ส่วนบนเรียวและกลวง ส่วนล่างเป็นถุงใหญ่  ยาว ๑๐-๒๐ เซนติเมตร  กว้าง ๕-๑๐ เซนติเมตร (ส่วนล่าง) ผิวนอกสีน้ำตาลอมเทา สีน้ำตาลอมดำ หรือสีเหลืองอมสีน้ำตาล เป็นมันเล็กน้อย ส่วนบนใส มองได้เกือบทะลุผิวบางและย่น เมื่อฉีกให้ขาดจะเห็นเป็นเส้นใย ในถุงน้ำดีมีน้ำดีที่แห้งแล้วเป็นก้อนหรือเป็นเม็ด ลางทีก็เป็นผงหรือก้อนเหนียวๆสีเหลืองทอง เป็นมันเงา เปราะ ดีหมีที่มีสีเหลืองทองคล้ายสีอำพัน เนื้อบาง เปราะ เป็นมันเงา มักเรียก ดีหมีสีทอง หรือ ดีหมีสีทองแดง ชนิดทีมีสีดำหรือสีเขียวอมดำ แข็ง มีลักษณะเป็นแผ่น มักเรียก ดีหมีสีดำ  หรือ ดีหมีสีเหล็ก ส่วนชนิดที่มีสีเขียวอมเหลืองเนื้อเปราะ มักเรียก ดีหมีสีกะหล่ำดอกเมื่อเรียกชิม  ดีหมีมีรสขมก่อน ต่อมาจะรู้สึกหวาน กลิ่นหอมเย็นๆ หรือ คาวเล็กน้อย อมในปากจะละลายจนหมด ดีหมีที่มีคุณภาพดีต้องมีรสขม  เย็น ไม่ติดฟัน  ก้อนน้ำดีสีเหลืองทองเป็นมันเงา รสขมตอนแรก  แล้วหวานตามหลัง

 

ของจริงหรือของปลอม

เนื่องจากดีหมีเป็นเครื่องยาที่หายาก จึงมีของปลอมขายมากในหลายรูปแบบ เช่น ปลอมด้วยดีหมู ดีวัว หรือดีแกะ แต่อาจตรวจสอบดีหมีแท้ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
๑. วิธีการตรวจทางกายภาพ อาจทำได้ด้วยการดูลักษณะทั่วไปภายนอก รวมทั้งผิวและรูปร่าง ตรวจดูรูเปิดของถุงน้ำดีและบริเวณที่มัด ดูปริมาณของน้ำดีแห้ง (ถ้ามีมากและเต็มอาจเป็นของปลอม) ตรวจดูน้ำหนักของดี (ถ้ามีน้ำหนักมากเกินไป อาจเป็นของปนปลอมด้วยโลหะลางอย่างเช่นตะกั่ว หรือเหล็กผสมทราย) ตรวจด้วยการเอาผงดีหมีเล็กน้อยวางบนนิ้วชี้ หยดน้ำลงไป ๑ หยด แล้วขยี้ด้วยนิ้วหัวแม่มือ (หากเป็นของแท้จะมีกลิ่นหอมเย็น) น้ำดีที่เป็นของแท้จะเปราะ แตกง่าย ได้ผลึกรูปหลายเหลี่ยม   (หากเป็นของปลอมจะเหนียวและแข็ง ไม่เป็นเงา) อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญมาก
๒. วิธีเผาไฟ เอาเข็มเขี่ยๆผงดีหมีเล็กน้อย   เผาไฟ หากเป็นของแท้จะปุดเป็นฟอง  แต่หากเป็นของปลอมจะติดไฟหรือเยิ้มเหลว หรืออาจมีปุดเป็นฟองแต่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
๓. วิธีตรวจด้วยน้ำ เติมน้ำลงในแก้วน้ำ ปริมาตรราว ๓ ใน ๔ แก้ว เอาเกล็ดดีหมีเล็กน้อยใส่ลงเบาๆบนผิวน้ำ เกล็ดดีหมีนั้นจะหมุนอย่างรวดเร็วชั่วครู่ ขณะหมุนอยู่ก็จะละลายไปเรื่อยๆแล้วจมลงในน้ำ ทำให้เห็นเป็น “เส้นเหลือง” ลงสู่ก้นแก้ว เส้นเหลืองนี้คงอยู่นานกว่าจะหายไป หากที่ผิวน้ำมีฝุ่นละอองเล็กน้อยเมื่อใส่เกล็ดดีหมีลงบนผิวน้ำ   ผงดีหมีจะหมุนอย่างรวดเร็วและผลักฝุ่นละอองที่ผิวน้ำให้กระจายออก นอกจากนั้น วิธีนี้ยังคงอาจใช้เหล้าขาวแทนน้ำ จะเกิดเส้นเหลืองให้เห็นเช่นกัน
๔. วิธีตรวจทางเคมี ทำได้โดยตรวจสาระสำคัญในดีหมีซึ่งไม่พบในดีของสัตว์อื่น คือ กรดเออร์โซเดสออกศซิโคลิก (ursodesoxycholic acid)  เช่น ด้วยวิธีรงคเลขผิวบาง  (thin-layered  chromatography) หรือด้วยวิธีรงคเลขของเหลวสมรรถนะสูง  (high  performance  liquid  chromatography  หรือ  HPLC)

 

สรรพคุณและขนาดที่ใช้


ตำราจีนว่า ดีหมีมีรสขม ฤทธิ์เย็น ใช้เป็นยาลดไข้ แก้อาการชัก บำรุงสายตา ใช้เป็นยาเจริญอาหารและยาทดแทนน้ำดี เป็นยาช่วยชีวิตผู้ป่วยที่หมดสติเนื่องจากไข้สูง ใช้หยอดตา ทาหัวริดสีดวงทวารหนักที่ทำให้เกิดอาการปวดบวม ใช้กินเป็นยาแก้โรคตับอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคบิดเรื้อรัง ใช้ครั้งละ ๐.๖-๑.๕ กรัม   โดยชงน้ำดื่ม  หรือทำเป็นยาลูกกลอนก็ได้ หรือใช้ละลายน้ำเล็กน้อยเป็นยาทา หรือใช้ทำเป็นยาตาก็ได้

 

 

ประโยชน์ทางยา


แพทย์แผนไทยใช้ดีหมีเป็นทั้งเครื่องยาและกระสายยา ตำราสรรพคุณยาโบราณว่าดีหมีมีรสขม หวาน มีสรรพคุณดับพิษร้อนภายใน แก้พิษเพ้อคลั่ง สติลอย ตาลอย บำรุงน้ำดี ขับรถยาให้แล่นทั่วตัว ใช้ดีหมีเป็นยากระจายเลือดลิ่มสำหรับบุคคลที่ซ้ำซอกเนื่องจากตกต้นไม้หรือตกจากที่สูง หรือถูกของแข็งกระแทก ทำให้ฟกช้ำ นอกจากดีหมีแล้ว แพทย์แผนไทยยังรู้จักใช้ “เขี้ยวหมี” เป็นเครื่องยาในตำรับยาหลายขนาน เช่น ยาแก้ไขขนานหนึ่งใน พระคัมภีร์มหาโชตรัต ดังนี้ สิทธิการิยะ ถ้าผู้ใดเปนไข้แลให้ร้อนภายในให้อยากน้ำนัก แลตัวคนไข้นั้นให้แข็งกระด้างดุจดังท่อนไม้แลท่อนฟืน ให้ตัวนั้นเปนเหน็บชาไปทั่วทั้งกายหยิกไม่เจ็บ ท่านว่าเกิดกาฬภายในแลให้ปากแห้งคอแห้งฟันแห้งนมหดหู่ให้เปนต่างๆนั้น   ท่านว่ากาฬผุดออกยังไม่สิ้นยังอยู่ในหัวใจนั้น   ถ้าจะแก้ให้เอารากกะตังบาย ๑   จันทน์ทั้ง ๒   สนเทศ ๑   ระย่อม ๑   พิศนาศ ๑   รากแตงเถื่อน ๑   รากหมูปล่อย ๑   หัวมหากาฬ ๑   หัวกะเช้าผีมด ๑   รากไคร้เครือ ๑   ใบระงับ ๑   ใบพิมเสน ๑   ใบเฉียงพร้าหอม ๑   ใบทองพันชั่ง ๑   เขากวาง ๑   งาช้าง ๑   เขี้ยวเสือ ๑   เขี้ยวหมี ๑   เขี้ยวจระเข้ ๑   เขี้ยวหมูป่า ๑   เขี้ยวแรด ๑   กรามนาคราช ๑   เขี้ยวปลาพยูน ๑   เกสรดอกบัวน้ำทั้ง ๗   ผลสมอพิเภก ๑   เทียนดำ ๑   ใบสะเดา ๑   เปลือกไข่เป็ดสด ๑   ผลจันทน์ ๑   ดอกจันทน์ ๑   สมอไทย ๑   รากมะรุมบ้าน ๑   รวมยาทั้งนี้เอาเสมอภาค   ทำผง   แล้วจึงบดปั้นแท่งไว้   ฝนด้วยน้ำดอกไม้   ทั้งกินทั้งพ่น   แก้สรรพไข้ทุกอันดังกล่าวมานั้น   หายแล อนึ่ง “เขี้ยวหมี”  เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในพิกัดยาไทยที่เรียก “นวเขี้ยว”  หรือ “เนาวเขี้ยว” ได้แก่  เขี้ยวหมูป่า  เขี้ยวหมี  เขี้ยวเสือ  เขี้ยวแรด  เขี้ยวหมาป่า  เขี้ยวปลาพะยูน  เขี้ยวจระเข้  เขี้ยวเลียงผา  และงาช้าง

 

รูปภาพจาก:thinglink.com,th.wikipedia.org

กรามนาคราช