สมุนไพรอ้อยช้าง

สมุนไพรอ้อยช้าง

อ้อยช้าง (Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.)
บางถิ่นเรียก อ้อยช้าง (ภาคกลาง) กอกกั๋น (อุบลราชธานี) กุ้ก (ภาคเหนือ) ตะคร้ำ (ราชบุรี) หวีด (เชียงใหม่)

เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 12 เมตร สลัดใบเมื่อมีดอก ส่วนที่ยังอ่อนอยู่มีขนปกคลุม ไม่ใคร่จะแตกกิ่งก้านมากนัก. ใบ เป็นแบบใบประกอบ คือออกเป็นช่องที่ปลายกิ่ง มีใบย่อย 3-4 คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ก้านช่อใบยาว แต่ก้านใบของใบย่อยสั้นมาก หรือ ไม่มีก้านใบ ใบเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาว โคนใบมน หรือ เป็นรูปหัวใจ ค่อย ๆ เรียวแหลมสู่ปลายใบ ซึ่งยื่นเป็นติ่งแหลมยาว ขอบใบเรียบ. ดอก ออกเป็นช่อสีเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น ดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอกมี 4-5 กลีบ เกสรผู้เป็น 2 เท่าของกลีบดอก เกสรเมียปลายแยกเป็น 4 แฉก. ผล เป็นผลสดมีเนื้อ รูปค่อนข้างเบี้ยว สีเขียวแต้มด้วยสีม่วงแดง ภายในมีเมล็ด 1 เมล็ด.

นิเวศน์วิทยา ขึ้นในป่าเบญจพรรณ.

สรรพคุณ แพทย์แผนโบราณของไทย ใช้เปลือกใส่แผล แก้ปวดฟัน แก่นปรุงเป็นยาแต่งรส เพราะรสหวาน ทำให้ชุ่มชื่นในลำคอ แก้กระหายน้ำ เกิดความชุ่มชื่นในอก.ในอินเดีย ใช้ใบ เปลือก และยางเป็นยา ใบใช้เป็นยาทาภายนอกโดยนำมาต้มในน้ำมัน ใช้ทาแก้เคล็ด ขัดยอก และปวดบวม ใช้เป็นยาพอก โดยผสมกับพริกไทยดำ แก้โรคปวดตามข้อ น้ำที่ได้จากกิ่งก้านที่มีสีเขียว เป็นยาทำให้อาเจียน เปลือกเป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด ใช้เป็นยาต้มแก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย ใช้กลั้วคอเมื่อเป็นแผลในปากและปวดฟัน ใช้ต้มอาบเมื่อเป็นฝี โรคเรื้อน และเป็นโรคผิวหนัง หรือ เมื่อนำมาเปลือกมาบดเป็นผงใช้ใส่แผลโรคผิวหนัง น้ำจากเปลือกสด ๆ ใช้หยอดตาแก้ตาเจ็บ ยางจากต้นใช้ผสมเป็นยาน้ำ ชะล้างแผลพุพองที่ผิวหนัง.

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,fca16mr.com,สมุนไพร