สมุนไพรมันเสา

สมุนไพรมันเสา

มันเสา Dioscorea alata Linn.
ชื่อพ้อง D. atropurpurea Roxb. D. globosa Roxb.
บางถิ่นเรียกว่า มันเสา มันงู มันจาวมะพร้าว มันมือหมี มันเลือดไก่ (กลาง) นอย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) มันเขาวัว มันแข้งช้าง มันตีนช้าง มันเลี่ยม (เหนือ) มันดอกทอง (นครราชสีมา) มันแถบ (ปราจีนบุรี) มันทู่ (นครศรีธรรมราช) มันลองเชิง (สระบุรี) มันหวาย (เลย) ยวยหมี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน).

ไม้เถา -> มีหัวใต้ดิน หัวมีรูปร่างต่าง ๆ กัน เช่น รูปทรงกระบอก กลม รูปชมพู่ เป็นพู หรือแฉก รูปนิ้วมือ เป็นต้น ผิวสีน้ำตาล หรือ ดำ ขาว สีงา หรือ ม่วง ไม่มีพิษ ไม่มีขน ลำต้นสี่เหลี่ยม ไม่มีหนาม ตามเหลี่ยมเป็นครีบ ครีบเป็นคลื่น มีหัวเกิดตามง่ามใบ กว้าง 1 ซม. ยาว 4 ซม.
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว ใบที่อยู่โคนต้นเรียงสลับกัน ใบที่อยู่เหนือขึ้นไปเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือ แกมหัวลูกศร รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม หรือขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 6-15 ซม. ยาว 8-22 ซม. โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ เป็นติ่งหู หรือ โคนตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม มีเส้นใบ 5 เส้น นูนเห็นชัดทั้งด้านบน และด้านล่าง แผ่นใบ และก้านใบสีเขียวอ่อน ก้านใบยาวใกล้เคียงกับแผ่นใบ มีครีบ บิด โคนก้านใหญ่.
ดอก -> ออกตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อ ยาว 15-25 ซม. ก้านช่อสีเขียว ไม่มีขน. มีครีบ กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น เกสรผู้ 6 อัน. ดอกเพศเมีย ออกเป็นช่อ ดอกไม่มีก้าน แต่ละช่อมี 8-14 ดอก กลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มี 3 ช่อง ปลายท่อรังไข่มี 3 แฉก.
ผล -> มีปีกโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม 3 ปีก. ปีกกว้าง 1.5-2.0 ซม., ยาว 1.7-2.5 ซม. ปลายเผาเว้าเล็กน้อย โคนกลมเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ เมล็ด มีปีก.


นิเวศน์วิทยา

พบมากในไร่ร้าง และปลูกกันบ้าง.


สรรพคุณ

หัวใต้ดิน -> เมื่อทำให้สุกกินได้ และใช้ทำแยมได้ดีเพราะเหนียวมาก มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ แก้โรคเรื้อน และริดสีดวงทวาร ใช้กินหลังจากฟื้นไข้ด้วยอาการไอเป็นเลือด และโรคไต หรือ ม้ามอักเสบ

สมุนไพรมันเสา

รูปภาพจาก:puechkaset.com,ladyinter.com