เต่าในประเทศไทย

เต่าในประเทศไทย

เต่าที่พบในประเทศไทย

มีอย่างน้อย ๒๒ ชนิด (ไม่รวมตะพาบน้ำ)  จัดอยู่ใน ๕ วงศ์ คือ
๑.วงศ์เต่าทะเล(Cheloniidea) พบ ๔ ชนิดคือ เต่าตนุ(เต่าแสงอาทิตย์) เต่าหญ้า เต่ากระ และเต่าหัวโต เป็นเต่ากระดองแข็ง มีแผ่นเกล็ดปกคลุม อาจเรียงต่อกัน(เช่น เต่าตนุ) หรือซ้อนกันเล็กน้อย (เช่น เต่ากระ) ขาหน้าแผ่เป็นครีบสำหรับว่ายน้ำ ขาหลังเป็นครีบกว้างสำหรับใช้เป็นหางเสือ


๒.วงศ์เต่าเฟื่อง(dermochelyidae) พบเพียงชนิดเดียว คือ เต่าเฟือง (มักเรียกกันผิดเป็น “เต่ามะเฟือง”) เป็นเต่ากระดองอ่อน มีสันยาวตามตัวบนหลังจากคอลงไปถึงก้น ๕ สัน ข้างตัวอีกข้างละสัน รวมเป็น ๗ สัน ใต้ท้องมีอีก ๕ สัน สันที่ใต้ท้องจะเลือนหายไปเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนสันบนหลังหายไปบ้างเมื่อเทียบกับอายุยังน้อย บนหัวตัวอ่อนมีเกล็ด แต่จะหายไปเมื่อโตขึ้น มีหนังคลุมแทน ขาหน้าแผ่เป็นครีบสำหรับว่ายน้ำ ยาวกว่าขาของเต่าทะเลอื่นๆ ขาหลังเป็นครีบกว้างๆ สำหรับใช้เป็นหางเสือ และใช้ขุดหลุมเมื่อจะวางไข่


๓.วงศ์เต่าน้ำจืด(Emydidae) พบอย่างน้อย ๑๓ ชนิด ได้แก่ เต่ากระอาน เต่าลายตีนเป็ด เต่าหับ เต่าแดง (เต่าใบไม้) เต่าหวาย เต่าบัว เต่าจักร เต่านา เต่าจัน เต่าปากเหลือง เต่าดำ เต่าทับทิม และเต่าแก้มแดง เต่าในวงศ์นี้สามารถหดหัวเข้าไปไว้ในกระดองได้หมด ขาแบน นิ้วและเล็บยาวกว่าเต่าบก ระหว่างนิ้วมีแผ่นพังผืดขึงไม่มากก็น้อย บนหัวคลุมด้วยหนัง ไม่เป็นเกล็ดเหมือนหัวเต่าบก แต่บริเวณท้ายทอยนั้น หลังอาจลายทำให้ดูคล้ายเกล็ด


๔.วงศ์เต่าปูลู(Platysternidae) พบในประเทศไทยเพียงชนิดเดียว คือเต่าปูลู มีลักษณะสำคัญคือกระดองบนกับกระดองล่างเป็นคนละชั้น ยึดติดกันด้วยพังผืด กระดองทั้งสองแบนเข้าหากันมาก โดยเฉพาะที่หน้าอก หัวโต หดหัวเข้าไปในกระดองไม่ได้ หัวคลุมด้วยแผ่นซึ่งไม่แบ่งออกเป็นชิ้นเกล็ดเหมือนเต่าอื่น ระหว่างนิ้วมีพังผืดบ้าง แต่ไม่เต็มนิ้ว นิ้วมีเล็บแหลมทุกนิ้ว เว้นนิ้วก้อย หางยาวมาก มีเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมปกคลุมบนหาง


๕.วงศ์เต่าบก(Testudinidae) พบ ๓ ชนิด คือ เต่าหก เต่าเดือย และ เต่าเหลือง เต่าในวงศ์นี้แตกต่างจากเต่าน้ำในวงศ์อื่นๆ ตรงที่ขาทั้ง ๔ กลม ไม่มีพังผืดยึดระหว่างนิ้ว เพราะไม่ต้องใช้ขาว่ายน้ำ มีเกล็ดบนหัวและที่ขา

  

รูปภาพจาก:thinglink.com,greenpeace.org