ปูทะเล

ปูทะเล

ปูทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในชั้นครัสเตเชีย

ที่พบในประเทศมีอย่างน้อย ๓ ชนิด ทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์  Portunidae คือ
๑.ปูดำ หรือ ปูแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla serrata (forsskal) ชนิดนี้พบตามป่าชายเลนทั่วไป
๒.ปูขาว หรือ ปูทองหลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla oceanic dana ชนิดนี้พบตามพื้นทะเลทั่วไป
๓.ปูเขียว หรือ ปูทองโหลง หรือ ปูลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scylla transquebarica Fabricius
ชนิดนี้พบตามพื้นทะเลทั่วไปทั้ง ๓ ชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  แต่แตกต่างกันด้านสีและหนามที่ขอบกระดองและสภาพถิ่นอาศัย จนนักวิชาการบางสำนักจัดเป็นชนิดเดียวกันหมด คือ Scylla serrata  (Forsskal)

 

ชีววิทยาของปูทะเล

ปูทะเลอาจมีกระดองขนาดกว้างได้ถึง ๒๐ เซนติเมตร มีลำตัวที่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหัวที่เชื่อมรวมกับอกมีกระดองเป็นเปลือกคลุมอยู่ด้านบน  กับส่วนท้องที่พับแนบติดกับลำตัวทางด้านล่าง ชาวบ้านเรียกส่วนนี้ว่า จับปิ้ง ซึ่งในตัวผู้จะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ส่วนในตัวเมียจะแผ่กว้างออกเป็นรูปโค้งกลม มีขา ๕ คู่ คู่แรกเปลี่ยนไปเป็นก้ามใหญ่ ใช้จับเหยื่อและป้องกันตัว และตัวผู้ใช้จับตัวเมียเวลาผสมพันธุ์ ขาคู่ที่ ๒-๕ มักมีปลายแหลม ใช้สำหรับคลานหรือเดิน ส่วนขาสุดท้ายของปูทะเลจะแบนเป็นกรรเชียง ช่วยในการว่ายน้ำ ปูทะเลหายใจโดยเหงือกซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ  ชาวบ้านเรียก  นมปู  เห็นได้เมื่อเปิดกระดองออก  ปูทะเลอาจสลัดก้ามทิ้งได้ โดยสร้างก้ามใหม่ขึ้นมาเมื่อลอกคราบครั้งต่อไป  ตามปรกติหลังจากการลอกคราบเพียง ๒ รั้ง ก้ามปูอาจมีขนาดใหญ่เท่าเดิมได้  การลอกคราบของปูเป็นกระบวนการช่วยเพิ่มขนาด  หลังจากปูกินอาหารและสะสมไว้เพียงพอแล้ว  ก็จะสลัดเปลือกเดิมทั้งหมดทิ้งไป  แล้วสร้างเปลือกใหม่ขึ้นมาแทน  ปูที่มีอายุน้อยนั้นลอกคราบบ่อย  แต่จะค่อยๆ ห่างขึ้นเมื่อปูโตเต็มที่แล้ว ฤดูผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในช่วงนี้ปูทะเลมีไข่มาก ก่อนการผสมพันธุ์นั้น ตัวผู้อุ้มตัวเมียไว้เพื่อรอจนตัวเมียลอกคราบ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาไว้จับปิ้ง ใช้รยางค์ของส่วนท้องโอบไข่เอาไว้ ไข่ในระยะแรกมีสีเหลืองอ่อนๆ แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น จนเป็นสีส้มและสีน้ำตาล ตามลำดับ จากนั้นไข่จึงฟักเป็นตัวอ่อน ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนลอยไปกับน้ำทะเล แล้วลอกคราบเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นตัวอ่อนอีกระยะหนึ่ง จึงจะจมลงสู่พื้นทะเลเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นปูขนาดเล็กต่อไป

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยใช้ “ก้ามปูทะเลเผา” เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในการประกอบยาหลายขนาน ตัวอย่างเช่น ยาทาแก้แผลอันเกิดจากไส้ด้วนไส้ลาม ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนยิ่งนัก ซึ่งบึนทึกไว้ใน พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ดังนี้ ถ้ามิหาย  ให้ร้อนหนัก ท่านให้เอา ก้ามปูทะเลเผา เปลือกหอยโข่งเผารากลำโพงแดง  ๑  รากขัดมอน  ๑  ฝางเสน  ๑  ดินประสิว  ๑  เปลือกจิกนา  ๑  ผลจิกนา  ๑  เอาเสมอ  บดด้วยน้ำลายจระเข้เป็นกระสาย  หายแล ยาแก้กระหายน้ำแก้ร้อนภายในอันทำให้หอบขนานหนึ่ง  ซึ่งบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ เข้าเครื่องยาที่เรียก “ก้ามปูทะเลเผาไฟ” ด้วย  ยาขนานนี้ตำราว่าใช้ “ทั้งกินทั้งพ่น”  ดังนี้ ขนานหนึ่งแก้ระหายน้ำให้ร้อนภายในแลให้หอบ  ท่านให้เอา สังข์หนามเผาไฟ ๑  รากบัวหลวง ๑  ฝุ่นจีน  ๑  รังหมาร่าเผาไฟ  ๑  ชาดก้อน  ๑ ดอกพิกุล ๑  ดอกสาระภี  ๑  ดอกบุนนาค  ๑  เกสรบัวหลวงการบูรรากสลอดน้ำรากคันทรงก้ามปูทะเลเผาไฟ ดินประสิวขาว ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน บดเปนแท่ง ละลายน้ำดอกไม้สด ทั้งกินทั้งพ่น แก้ร้อนแก้ระหายน้ำ เสโทตกก็หายแล

 

รูปภาพจาก:porchuanchim.wordpress.com,kudsalaw2557.blogspot.com