สมอพิเภก

สมอพิเภก

ชื่อพื้นเมืองอื่น    แหน  แหนขาว แหนต้น  (ภาคเหนือ) ซิบะดู่ (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่) ลัน (เชียงราย) สะคู้ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) สมอพิเภก สมดแหน (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์   Terminalia bellerica (Gaertn) Roxb.

ชื่อวงศ์   COMBRETACEAE
ชื่อสามัญ  Beleric myrobalan

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น (T) ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 25-35 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง ที่โคนต้นมีกมีพูพอนขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นหนา มีรอยแตกเป็นร่องตามยาว

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะใบรูปไข่กลับ กว้าง 2-5 ซม. ยาว 4-15 ซม. ปลายใบมน กลมหรือแหลม โคนใบสอบแคบ เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน เส้นแขนงใบแผ่กว้างมี 6-8 คู่ ก้านใบ ยาว 3-9 ซม. มีกมีตุ่มหูดเล็กๆ อยู่ที่ระหว่างกลางก้านใบ หรือใกล้ๆโคนใบ                                                                                                     
ดอก
 ออกดอกช่อตามง่ามใบหรือที่ปลายยอด ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ดอกสีเหลือง ช่อดอกยาว 3-15 ซม. ดอกเพศผู้จะอยู่ที่ปลายยอด ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ที่โคนช่อ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีขนตอนปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก                                                                                                                               
ผล
 ลักษณะผลค่อนข้างกลม หรือรูปรี ขนาดกว้าง 1-2 ซม. ยาว 2-3 ซม. มีสัน 5 สัน เห็นลางๆ เปลือกนอกแข็ง มีขนละเอียดสีน้ำตาลปกคลุมหนา                                         
เมล็ด ลักษณะรูปรี ผิวขรุขระ กว้าง 0.5 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม.

นิเวศวิทยา                                     
มีขึ้นกระจายตามป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ตั้งแต่ความสูง 0-500 เมตร ผลัดใบในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม จากนั้นจะแตกใบใหม่และแตกดอกในเดือนมีนาคม – เมษายน 

การปลูกและขยายพันธุ์                                     
เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินรุ่นซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ราก  รสฝาดเย็น แก้พิษโลหิตซึ่งมีอาการทำให้ร้อน
เปลือกต้น
  รสฝาดเย็น แก้โรคเกี่ยวกับระบบปัสสาวะพิการ
ใบ รสฝาด รักษาแผลติดเชื้อ แก้บาดแผล 
ดอก  รสฝาดเย็น แก้โรคตาเปียกแฉะ
ผล  รสฝาด เป็นยาเจริญอาหาร บำรุง แก้ไข้ ท้องร่วง โรคเรื้อน ริดสีดวงทวาร ท้องมาน ถ้ารับประทานมากๆ เป็นยาเสพติด และทำให้หลับ เมื่อเอาเมล็ดออก ย่างไฟนาบสะดือเด็กหลังจากสายสะดือหลุด ผลที่ค่อนข้างสุกเป็นยาระบาย เมื่อสุกเต็มที่เป็นยาสมาน ผลแห้ง แก้ไอ เสียงแห้ง เจ็บคอ และธาตุพิการ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ 
1. แก้ท้องเสีย โดยใช้เปลือกต้นสด 10-15 กรัม ล้างให้สะอาด สับเป็นชิ้นต้มในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว
2. ช่วยระบายและหยุดถ่าย โดยใช้ผลดิบรับประทานสด 1-3 ผล อาจจิ้มเกลือหรือน้ำตาลเล็กน้อยก็ได้ เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น

 

รูปภาพจาก:disthai.com,bodycare108.com,สมุนไพร