มะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์  Anacardium occidentale Linn.
บางถิ่นเรียก มะม่วงหิมพานต์ (ภาคกลาง) มะม่วงกาสอ มะม่วงกุลา มะม่วงลังกา มะม่วงสิงหล (ภาคเหนือ) มะม่วงเล็ดล่อ ยาโงย ยาร่วง (ภาคใต้).

เป็นไม้ต้น ขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร ใบ สีเขียวเข้มออกสลับกัน รูปไข่กลับ โคนใบแหลม ปลายใบมนป้าน กว้าง 7.5-10 ซม. ยาว 7.5-20 ซม. ดอก ออกเป็นช่อกระจาย กลิ่นหอมเอียน ช่อดอกยาว 15-20 ซม. แต่ละดอก ขนาดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพู เกสรผู้ 8-10 อัน. ผล มีลักษณะแปลก คือ ปลายก้านดอก และจานรองดอกจะขยายใหญ่ขึ้น ลักษณะคล้ายผลชมพู่ ยาวประมาณ 6-7 ซม. สีเหลืองอมชมพู แก่จัดสีแดง นิ่ม และมีกลิ่นหอม ปลายสุดจะมีเมล็ดรูปไตติดอยู่ 1 เมล็ด ยาว 2.5-3 ซม. สีน้ำตาลอมเทา มีเปลือกแข็งหุ้ม.

นิเวศน์วิทยา  เป็นไม้ที่ปลูกกันมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้.

สรรพคุณ  ใบอ่อนรับประทานได้เป็นผัก เมล็ดรับประทานได้ แต่ต้องนำมาเผาไฟเสียก่อน ทุก ๆ ส่วนที่ยังสดอยู่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เป็นผื่นคัน. แพทย์แผนโบราณของไทยใช้ผลสุกรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง และเป็นยาระบายอ่อน ๆ ขับปัสสาวะ เปลือกลูกดิบเป็นยาคุมธาตุ ดอก เปลือก เนื้อในเมล็ดรับประทานแก้ท้องร่วง บิด อาเจียน ใบเผาเอาควันสูตรรักษาโรคเกี่ยวกับคอและไอ ในเปลือกของเมล็ดมีน้ำมันที่มีกลิ่นฉุน รสขม ประกอบด้วย Cardol และ Anacardiac acid ทำให้ผิวหนังพอง ใช้ทำให้ชา รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนัง ใช้กัดพวกเนื้องอกบางชนิด เช่น หูด หรือ ตาปลา ใช้ทาสำหรับป้องกันมดต่าง ๆ ในอินเดีย ใช้เปลือกและผลเป็นยา น้ำมันในเปลือกใช้เป็นยาดังกล่าวมาแล้ว และใช้ทารอยแตกที่ซ่นเท้า ส่วนผลใช้เป็นยาแก้โรคลักปิดลักเปิด และแก้ท้องร่วง น้ำจากผลเป็นยาขับปัสสาวะ เปลือกและดอกใช้แก้พิษงู ในอินโดนีเซียใช้ใบแก่ตำพอกแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก และโรคผิวหนังบางชนิด น้ำที่ได้จากผลใช้แก้อาเจียน ใช้ล้างปากเมื่อเป็นแผลพองในปาก และใช้กลั้วคอเมื่อเป็นหวัด ในมาเลเซียใช้เปลือกเป็นยาต้มแก้อาการท้องร่วงอย่างแรง.

 

รูปภาพจาก:prayod.com,phongkorn.cu.cc