สมุนไพรหญ้าละออง

สมุนไพรหญ้าละออง

หญ้าละออง Vernonia cinerea Less.
บางถิ่นเรียก หญ้าละออง (ตราด) ก้านธูป (จันทบุรี) เซียวซัวเฮา (จีน) ถั่วแฮะดิน ฝรั่งโคก (เลย) หญ้าดอกขาว เสือสามขา หมอน้อย (กรุงเทพฯ) หญ้าสามวัน (เชียงใหม่)

  ไม้ล้มลุก สูง 0.08-1.6 ม. ลำต้นเป็นสัน ขนนุ่ม มีต่อม. ใบ ล่าง ๆ โคนใบสอบแคบไปยังก้านใบ มีรูปร่างได้หลายแบบ รูปไข่ รูปไข่กลับ รอบขอบขนาน หรือ รูปหอก; ใบบน ก้านใบสั้น หรือ ไม่มี รูปขอบขนาน รูปหอก หรือ รูปขอบขนานแคบ กว้าง 0.5-3.5 ซม. ยาว 1-8.5 ซม. ขอบใบทั้งหมดค่อนข้างเรียบ เนื้อใบนุ่มและอุ้มน้ำ ขนนุ่มทั้งสองด้าน ด้านล่างมีต่อม. ดอก เป็นกระจุก ยาว 6-7 มม. ออกเป็นช่อ ก้านดอกยาว 2-14 มม. ริ้วประดับ ยาว 4-5 มม. มี 4 ชั้น กลีบดอกมักมีสีม่วง บางทีพบสีชมพู ยาว 3.5-4 มม. รูปท่อ ปลายจักเป็น 5 แฉก. ผล แห้ง ยาว 1.5-2 มม. มีขนสีขาวหนาแน่น มี 4-5 สัน ระยางค์ยาว 4-5 มม.เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกสั้นกว่าเล็กน้อย.

นิเวศน์วิทยา : พบตามทุ่งหญ้า สองข้างทาง ไร่ร้าง; ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลถึง 1,300 ม.

สรรพคุณ : ทั้งต้น ลดไข้ แก้ไอ ดีซ่าน (ที่เกิดจากตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน) ปัสสาวะรดที่นอน  ริดสีดวงทวาร เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง น้ำคั้นมีฤทธิ์กระตุ้นให้เจ็บท้องคลอดบุตร เป็นยาขับรก ขับระดู ต้มรับประทานแก้ปวดท้อง ท้องขึ้นเฟ้อ แพทย์แผนจีนใช้ทั้งต้นตำพอกแก้นมคัด นมหลง แก้บวม ดูดหนอง. ใบ สดตำพอกปิดแผลเป็นยาสมาน ตำผสมกับน้ำนมคน กรองเอาน้ำหยอดตา แก้ตาแดง ตาเปียก ตาแฉะ  พอกแก้ปวดหัว แก้กลากเกลื้อน ขี้เรื้อนกวาง บิด หืด หลอดลมอักเสบ โรคเท้าช้าง เมล็ด ขับพยาธิ แก้ท้องขึ้นอือเฟ้อ เป็นยาพอกแก้โรคผิวหนัง และยากำจัดเหาบนศีรษะ  ราก ขับพยาธิ แก้โรคบวมน้ำ แก้โรคปวดข้อ

 

รูปภาพจาก:pinterest.dk,wikiwand.com,สมุนไพร