หอยแครง

หอยแครง

หอยแครงเป็นหอยทะเลกาบคู่  
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Anadara   granosa  Linnaeus
วงศ์  Arcidae

พบมากตามแหล่งน้ำชายฝั่งทะเลที่มีโคลนปนทราย  ตามปากแม่น้ำ   มีศูนย์กลางการแพร่กระจายในช่องแคบมะละกา   เป็นหอยที่มีการเพาะเลี้ยงได้หลายรูปแบบหอยแครงมีเปลือกค่อนข้างหนา   ขนาดเปลือกยาวเต็มที่ราว  ๙  เซนติเมตร   แต่ที่พบในธรรมชาติมีความยาวเปลือกโดยเฉลี่ยราว  ๖  เซนติเมตร   เปลือกมีความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย   มีสันบนเปลือก  ๑๕-๒o  เส้น  พบมากบริเวณหาดโคลนละเอียดในเขตน้ำตื้นตลอดชายฝั่งอ่าวไทย   หอยแครงที่ใช้บริโภคในประเทศ   ปัจจุบันได้จากการเพาะเลี้ยงราวร้อยละ  ๘o  หรือ  มากกว่า

หอยแครงชนิดอื่นในประเทศไทย
หอยแครงชนิดอื่นที่พบได้ในน่านน้ำของในประเทศไทยมีอีก  ๔  ชนิด  คือ

หอยแครงขุ่ย  หรือ  หอยแครงปากมุ้ม  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Anadara  nodifera  (von  Martens)   ชนิดนี้คล้ายหอยแครงมาก   แต่มีลักษณะยาวรีกว่า   โดยมีความยาวมากกว่าความสูงอย่างเด่นชัด   จึงดูคล้ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า   ความยาวเปลือกเมื่อโตเต็มที่ยาวราว  ๖  เซนติเมตร   มีสันนูนตามความยาวของเปลือก  ๑๙-๒๓  เส้น   พบมากในบริเวณอ่าวไทยตอนบน
หอยแครงมัน หรือ  หอยแครงมูน   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Anadara  troscheli  (Dunker)   ชนิดนี้มีกาบหอยรูปหัวใจ   พบมากบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันที่เป็นโคลน   ตั้งแต่จังหวัดพังงา   ถึงจังหวัดสตูล
หอยแครงเบี้ยว   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Anadara   antiquate  (Linnaeus)   ชนิดนี้มีกาบรูปยาวรี   มีสันเปลือกและมีรอยฉีกของเปลือก   ลักษณะคล้ายหอยแครงขน  แต่เปลือกยาวรีกว่า   มีสันที่เปลือก  ๓๕-๔๔  สัน   ความยาวเปลือกเมื่อโตเต็มที่ราว  ๑๕  เซนติเมตร   พบมากที่จังหวัดชลบุรี   และที่เกาะปลาบ   จังหวัดสุราษฎร์ธานี
หอยแครงขน หรือ  หอยคราง   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า   Anadara   (Scapharca)  inaequivalvis  (Bruguiere)   เป็นหอยที่มีรูปร่างแตกต่างจากหอยแครงทั่วไป   มีขนาดค่อนข้างใหญ่   กาบทั้ง  ๒  ข้างไม่เท่ากัน   มีสันที่เปลือก  ๓o-๓๖  สัน   ข้างนอกเป็นขน  ความยาวเปลือกเมื่อโตเต็มที่ราว  ๑๕  เซนติเมตร   พบอยู่ตามพื้นโคลนปนทรายที่ระดับน้ำค่อนข้างลึก   ที่จังหวัดตราด   เพชรบุรี   ภูเก็ต  และสงขลา

ประโยชน์ทางยา
พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาขนานหนึ่งชื่อ  “ยาปัญจคงคา”   ใช้แก้ซางโค   ยาขนานนี้เข้า  “เปลือกหอยแครง”   เป็นเครื่องยาด้วยดังนี้
ยาชื่อปัญจคงคา   ขนานนี้ท่านให้เอาหอยแครงเผา  ๑  ใบตำลึงตัวผู้  ๑  สานส้ม  ๑  น้ำประสานทอง  ๑  ดินประสิวขาว  ๑  ดินสอพอง  ๑  รวมยา  ๖  สิ่งนี้เอา มาเสมอภาค   บดทำแท่งไว้   ถ้าจะกวาด   ละลายน้ำมะนาวกวาด   จะชโลมน้ำซาวเข้าสำหรับแก้ทรางโค   หายดีนัก เปลือกหอยแครงเป็นเปลือกหอยชนิดหนึ่งในพิกัดยาไทย  ที่เรียก  พิกัดหอย  หรือ  พิกัดเนาวหอย  หรือ  พิกัดนวหอย

 

รูปภาพจาก:วัดคีรีไพรสณฑ์.com,sukkaphap-d.com