สมุนไพรชะเอมไทย

สมุนไพรชะเอมไทย

ชื่อพื้นเมืองอื่น  เพาะซูโพ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ส้มป่อยหวาน (ภาคเหนือ); ชะเอมไทย, ชะเอมป่า (ภาคกลาง); ตาลอ้อย (ตราด); อ้อยช้าง (สงขลา,นราธิวาส);  ย่ายงาย (ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Albizia myriophylla Benth.
ชื่อวงศ์-อนุวงศ์   LEGUMINOSAE – MINOSOIDEAE
ชื่อสามัญ Cha em thai.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถา (C) ยืนต้น เปลือกลำต้นมีรอยแตกเป็นจุดเล็กๆตามขวางของลำต้น ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนาม
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ลักษณะใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบรูปหอก โคนใบมนเบี้ยวและเว้า หลังใบเรียบ ท้องใบเรียบ ใบเล็กละเอียดเป็นฝอย คล้ายใบส้มป่อย
ดอก ออกดอกช่อ ออกตามบริเวณง่ามใบและปลายยอด ลักษณะดอกเป็นพุ่มกลมสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม
ผล เป็นฝักแบน ผิวฝักเรียบ ฝักอ่อนสีเขียว พอฝักแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกอ้าออกเห็นเมล็ดแบนสีน้ำตาลอยู่ข้างใน

นิเวศวิทยา
มักขึ้นตามป่าราบเชิงเขา และป่าโปร่งทั่วไป พบมากในจังหวัดจันทบุรี นิยมปลูกในสวนครัวเพื่อไว้ใช้ประโยชน์ทางยา

การปลูกและขยายพันธุ์
เป็นไม้ที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ความชื้นปานกลาง ขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ดหรือการปักชำกิ่ง

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ 
ราก  รสหวาน แก้ไข้ เป็นยาระบาย แก้กระหายน้ำ

ลำต้น  รสหวานเอียน แก้โรคในคอ โรคตา ขับลม ทำให้ผิวหนังชุ่มชื่นหรือสดชื่น
เนื้อไม้  รสหวาน แก้โรคในคอ แก้ลม บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว บำรุงกำลัง
ดอก  รสขมร้อน ช่วยย่อยอาหาร แก้ดีและโลหิต ทำเสมหะให้งวด
ใบ  รสเฝื่อนร้อน ขับโลหิตระดู

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
1. เป็นยาระบาย แก้กระหายน้ำ โดยใช้รากสดหรือแห้ง 10 กรัม ต้มในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือน้ำครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

 

รูปภาพจาก:fpm365.com,สมุนไพร