สมุนไพรกานพลู

สมุนไพรกานพลู

กานพลูเป็นดอกตูมที่เกือบจะบานของต้นกานพลู
อันมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Syzygium aromaticum (L.) Merr. et Perry
มีชื่อพ้องหลายชื่อ เช่น Eugenia caryophyllata Thunb. Caryophyllus aromaticus L.,Eugenia aromatica (L.) Baill.
ในวงศ์ Myrtaceae

คำว่า กานพลู มาจากภาษาอาหรับว่า Karanaphul ไทยเรียก กรานพลู มาแต่โบราณ แต่มีการคัดลอกตำราต่อๆกันมาจนเพี้ยนเป็น กรามพูลกรามพลูบ้าง ต่อมาแผลงเป็นกานพูล และเพี้ยนต่อไปเป็นกานพลูในปัจจุบัน ฝรั่งเรียก clove กานพลูเป็นทั้งเครื่องยาและเครื่องเทศ

มีถิ่นกำเนิด แถวหมู่เกาะโมลุกกะ ในปัจจุบันปลูกได้ในประเทศไทย ปลูกมากที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร พืชชนิดนี้เป็นไม้ต้นสูง ๙-๑๒ เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม ใบรูปใบหอก รูปรีหรือรูปไข่กลับแคบๆ ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก ไปอ่อนสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบ ยาวราว ๕ เซนติเมตร ก้านช่อดอกสั้นมาก ใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงมี ๔ กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดยาว เมื่อเป็นผล ฐานรองดอกจะขยายออกเป็นรูปกรวย ยาวราว ๑ เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ กลีบดอกมี ๔ กลีบ รูปขอบขนานหรือกลม มีต่อมน้ำมันมาก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ร่วงง่าย ผลเป็นผลมีเนื้อ รูปไข่กลับแกมรูปรี เมื่อแก่จัดจะมีสีแดง มีเมล็ด ๑ เมล็ด ก้านพลูที่ได้จากดอกตูมที่เก็บในช่วงที่กำลังเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง แล้วตากให้แห้งทันที จะมีคุณภาพดีที่สุด มีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมจัด แต่ดอกที่บานแล้วจะมีสรรพคุณทางยาลดลงมาก

สรรพคุณโบราณไทย ใช้กานพลู ๕-๘ ดอก ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น หรือเอาไปบดเป็นผง ชงเป็นชาดื่มใช้ได้ดีมาก ในการแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็กอ่อน โดยใช้เพียงดอกเดียวชงในน้ำ ๑ กระติกความจุราว ๑ ลิตร สำหรับชงนมใส่ขวดให้ดูด กานพลูมีน้ำมันระเหยง่ายเราร้อยละ ๑๔-๒๓ ของน้ำน้ำหนักแห้ง มีองค์ประกอบหลักเป็นสารที่ยูจีนอล ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน และใช้ในทางทันตกรรม ก้านพลูที่มีขายในตลาดนั้น ร้านค้าบางแห่งอาจหลอกเอาดอกกานพลูที่สกัดเอาน้ำมันกานพลูออกไปแล้วมาจำหน่าย ซึ่งมีคุณภาพต่ำและราคาถูกกว่า

 

รูปภาพจาก:ideiasomada.com,treeofthai.com,สมุนไพร