สมุนไพรรางจืด

สมุนไพรรางจืด

รางจืด (Thunbergia laurifolia Linn.)
บางถิ่งเรียกว่า รางจืด ยาเขียว ขอบชะนาง เครือเขาเขียว กำลังช้างเผือก (ภาคกลาง) หนามแน่ น้ำแน่ (ภาคเหนือ) ย่ำแย้ (อุตรดิตถ์) ปังกะล่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) น้ำนอง (สระบุรี) คาย (ยะลา) ดุเหว่า (ปัตตานี)

เป็นไม้เถา เนื้อแข็ง ใบ เกลี้ยง ขอบใบเว้าเล็กน้อย รูปขอบขนานกว้าง หรือ รูปไข่ ปลายใบแหลมเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ใบล่าง ๆ มักจะใหญ่กว่าที่อยู่ถัดขึ้นไป ใบยาว 8-10 ซม. กว้าง 4-5 ซม. ก้านใบยาว 2.5 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามข้อ ช่อหนึ่งมี 3-4 ดอก และห้อยลงมา มีใบประดับหุ้มดอกยาวประมาณ 2.5 ซม. สีเขียวประแดง เมื่อดอกบานจะโผล่ออกมาจากด้านข้างด้านหนึ่งของใบประดับที่รองรับดอก กลีบรองกลีบดอกไม่เจริญเป็นกลีบ เห็นเป็นเพียงขอบ ๆ เท่านั้น กลีบดอกใหญ่มี 5 กลีบติดกัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 ซม. สีฟ้า หรือ ขาว ติดกันตอนโคนเป็นท่อ ยาวประมาณ 3.5 ซม. ภายในท่อดอกสีขาว ด้านล่างของดอกเป็นสันสามเหลี่ยมขึ้นมา และบนสันนี้มีเส้นสีม่วง ยาวไปตามหลอด 7 เส้น โคนดอกเป็นหลอด ลดขนาดลงจากท่อดอกยาวประมาณ 1 ซม. เกสรผู้มี 4 อันอยู่ระดับเดียวกัน. ผล เป็นฝักยาวประมาณ 1 ซม. มีลักษณะกลมและมีปากยาวแหลมที่ตอนปลาย ส่วนที่เป็นปากนี้ยาว 2-3 ซม. เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก.

นิเวศน์วิทยา พบขึ้นทั่วไปตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือ ตามทุ่งหญ้า.

สรรพคุณ  แพทย์พื้นเมืองบางจังหวัดในประเทศไทย ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษทั้งปวง รากและเถารับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษร้อนต่าง ๆ ใช้รากเข้ายารักษาโรคอักเสบและปวดบวม ใช้ทั้งต้นเข้ายาแก้มะเร็ง.ในมาเลเซียใช้น้ำที่คั้นจากใบกินแก้โรคประจำเดือนผิดปกติ และอาจจะใช้หยอดหู ใบเอามาตำพอกแก้ปวดบวม.

หมายเหตุ มีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียง และมีดอกสีเหมือนต้นรางจืด คือ ช่ออินทนิล หรือ สร้อยอินทนิล Thunbergia grandiflora Roxb. ลักษณะต่างกันที่เห็นนั่นก็คือ รางจืด เป็นไม้ที่มีดอกไม่มากเท่าช่ออินทนิล และมีใบเกลี้ยง เส้นกลางใบและข้างมีเพียง 3 เส้น ส่วน ช่ออินทนิล มีดอกห้อยเป็นช่อยาวมาก ใบสาก และเส้นกลางใบมี 5-7 เส้น

 

รูปภาพจาก:wikipedia.org,puechkaset.com,สมุนไพร