สมุนไพรมันขมิ้น

สมุนไพรมันขมิ้น

มันขมิ้น Dioscorea bulbifera Linn.
บางถิ่นเรียกว่า มันขมิ้น ว่านพระฉิม ว่านสามพันตึง (กลาง) เดะควา (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) มะมู หำเป้า (เหนือ) มันกะทาด (นครราชสีมา) มันแตกเลือด มันเสิน (นครศรีธรรมราช) มันหลวง (ประจวบคีรีขันธ์) มันอีโม้ (สุโขทัย) มันอีลุ้ม (จันทบุรี)ละสามี เล่าะแจ๊มื่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อีรุมปุมเป้า (ปราจีนบุรี).

ไม้เถา -> ลำต้นสีน้ำตาลอมเหลือง มีหัวออกตามง่ามใบด้วย หัวเหล่านี้รูปไข่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6-2.4 ซม. เมื่อยังอ่อนอยู่ผิวเป็นปุ่ม ๆ เจริญเต็มที่แล้วผิวจะเรียบ เนื้อสีเหลืองอ่อน หรือ มีแต้มสีม่วง เมื่อตัดผ่านจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีน้ำเมือกมาก เป็นพิษ มีหัวใต้ดินรูปกลมแป้น หรือ รูปน้ำเต้าคอชะลูด ภายนอกมีรากสั้น ๆ หนาแน่น มีขนาดใหญ่ บางทีหนักถึง 1 กก.
ใบ -> เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปหัวใจกลม หรือ หัวใจยาว กว้าง 5-20 ซม. ยาว 7-25 ซม. โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม เส้นใบ 7-9 เส้น ออกจากโคนใบ โค้งตามขอบใบไปยังปลายใบ เส้นแขนงใบมองเห็นชัด ผิวใบด้านบนเป็นมัน เกลี้ยง ก้านใบยาวพอ ๆ กับแผ่นใบ บางทีโคนก้านใบแผ่แบนออกเป็นปีก 2 ข้าง ลักษณะคล้ายติ่งหู ไม่มีขน.
ดอก -> ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ช่อดอกยาว 5-13 ซม. ก้านช่อยาว 1-2.5 ซม. ดอกสีขาวแกมเขียวอ่อน หรือ แกมม่วง จำนวนมาก ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอม แต่ละดอกมีใบประดับรูปไข่ปลายแหลม 1 ใบติดอยู่ที่ฐานดอก. กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น รูปยาวแคบ หรือ รูปหอก เนื้อกลีบหนา. ดอกเพศเมีย ช่อดอกยาว 10-20 ซม. ที่ฐานดอกมีใบประดับ 1 ใบ กลีบดอก 6 กลีบ รูปยาวแคบ.
ผล -> รูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. มักจะมีจุดประสีน้ำตาลแกมเหลือง ปลายท่อเกสรเมียมี 6 แฉก ใบร่วงง่าย. เมล็ด มีปีก.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าดิบทั่วไป.


สรรพคุณ

หัวใต้ดิน -> เมื่อทำให้สุกกินได้ มีสรรพคุณทางยาเป็นยาขับปัสสาวะ แก้บิด ลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย ขับพยาธิ เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องย้อย เป็นยาขม ยาเย็น และขับน้ำนม หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้ปิดแผลแก้อักเสบได้

สมุนไพรมันขมิ้น

รูปภาพจาก:google.com,easyayurveda.com