สมุนไพรโพธิสัตว์

สมุนไพรโพธิสัตว์

โพธิสัตว์ Aleurites moluccana (Linn.) Wild.
ชื่อพ้อง Jatropha moluccana Linn.
บางถิ่นเรียกว่า โพธิสัตว์ (กรุงเทพฯ) กือระ (มลายู-ยะลา) ปูรัด (สตูล) มะเยา (เหนือ).

ไม้ต้น -> ขนาดใหญ่ สูง 10-20 ม. ยอดอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนรูปดาวปกคลุม.
ใบ -> เดี่ยว เรียงแบบบันไดเวียนห่าง ๆ ตามปลายกิ่ง รูปไข่ถึงรูปหอก หรือ รูปข้าวหลามตัดป้อม ๆ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ เป็นคลื่นเล็กน้อย หรือ มี 3-7 แฉก ปลายแฉกมน หรือ แหลม โคนใบมน หรือ ตัด เส้นใบ 3-7 คู่ เส้นใบคู่ล่างออกจากโคนใบ โคนใบตรงที่ติดกับก้านใบ มีต่อม 2 ต่อม ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนรูปดาว สีขาวนวล ก้านใบยาว 8-14 ซม. มีขน.
ดอก -> สีขาว ออกเป็นช่อที่ยอด ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน หรือ ต่างต้นกัน ก้านดอกสั้น. ดอกเพศผู้ กลีบรองกลีบดอกมีขนหนาแน่นคล้ายกำมะหยี่ แยกเป็น 3 กลีบ ยาวประมาณ 2 มม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับแกมขอบขนาน ด้านในมีขน เกสรผู้มี 15-20 อัน ก้านเกสรสั้น มีขน อับเรณูตั้งตรง เกสรผู้ตั้งอยู่บนฐานซึ่งมีขน. ดอกเพศเมีย กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ บนฐานดอกมีต่อมเรียงสลับกับกลีบดอก มองเห็นได้ชัด รังไข่ 2-5 ช่อง มีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย ท่อรังไข่ปลายแยกเป็น 2 แฉก.
ผล -> ค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 ซม. ผิวสีเขียวมะกอก เรียบ เปลือกหนา มี 1-2 เมล็ด. เมล็ด มีเปลือกหุ้มแข็ง เป็นร่อง เนื้อในสีขาว มีน้ำมันมาก.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามที่ราบในป่าดิบ เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 350 ม.


สรรพคุณ

ต้น -> น้ำต้มเปลือก กินเป็นยาฝาดสมาน และแก้บิด
ใบ -> เผาให้ร้อน ใช้พอกแก้ปวดตามข้อ
ผล -> กินได้เมื่อทำให้สุก เป็นยาเย็น บำรุงร่างกายและกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
เมล็ด -> เนื้อเมล็ดเมื่อหีบ ให้น้ำมันถึง 60% มีสรรพคุณต่างจากน้ำมันทัง (Tung Oil) มาก ใช้แทนกันไม่ได้ มีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดีเป็นพิเศษ นำไปใช้ในการผลิตสบู่ ทำน้ำมันชักเงา ฯลฯ ใช้เป็นยาทาบาดแผล กินก่อนนอกนขนาด 1-2 ออนซ์ เป็นยาระบายอย่างอ่อนแทนน้ำมันละหุ่งได้  เปลือกเมล็ดตำเป็นยาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ พอกบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ และพอกตามข้อ แก้ปวด

สมุนไพรโพธิสัตว์

รูปภาพจาก:chiangraifocus.com,http://nealcomm.com,สมุนไพร