แมงมุม

แมงมุม

แมงมุมเป็นชื่อเรียกสัตว์จำพวกแมงหลายชนิด

แมงมุมเป็นชื่อเรียกสัตว์จำพวกแมงหลายชนิดในวงศ์ ทุกชนิดจัดอยู่ในอันดับ  Araneae  มีชื่อสามัญว่า spider กินสัตว์เป็นอาหาร มีขนาดแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด  พวกที่ทีขนาดเล็กอาจมีลำตัวยาวเพียง ๐.๗  เซนติเมตร ส่วนพวกที่มีขนาดใหญ่อาจมีลำตัวยาวถึง ๙ เซนติเมตร พวกที่พบตามบ้านเรือนและก่อความสกปรกรกรุงรังมักเป็นแมงมุมที่อยู่สกุล Pholcus หลายชนิด (วงศ์  pholcidae )

 

แมงกับแมลง

ในทางกีฏวิทยา คำ “แมง” กับ “แมลง” มีความหมายแตกต่างกัน และมักเรียกสับสนกัน คำ “แมง”ใช้เรียกชื่อสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  ลำตัวแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหัวกับอกรวมเป็นส่วนเดียวกันส่วนหนึ่ง กับส่วนท้องอีกส่วนหนึ่ง มีขา ๘  หรือ ๑๐ ขา ไม่มีหนวด ไม่มีปีก ตัวอย่างเช่น แมงมุม  แมงป่อง แมงดาทะเล ส่วนคำ “แมลง” ใช้เรียกชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว  ลำตัวแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนอย่างชัดเจน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง  มีขา ๖ ขา เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเพียงพวกเดียวที่มีปีก อาจมีปีก ๑ หรือ ๒ คู่  หรือไม่มีปีกเลยก็ได้ เป็นสัตว์ที่มีมากชนิดที่สุดในโลก ตัวอย่างเช่น แมลงสาบ แมลงวัน

 

ชีววิทยาของแมงมุม

แมงมุมมีลำตัวแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน  ส่วนหัวกับส่วนอกติดกันเป็นส่วนเดียวคลุมด้วยแผ่นแข็งทั้งด้านหลังและด้านล่าง มีตาเล็กๆข้างละหลายตา ลางชนิดอาจมีได้ถึง  ๘  ตา อยู่ใกล้ๆกัน  (ยกเว้นแมงมุมบางชนิดที่ไม่มีตา ซึ่งมักเป็นแมงมุมที่อาศัยอยู่ในที่มืด เช่นในถ้ำ)  ที่ปากมีเขี้ยวเป็นอวัยวะคู่  มีรูปร่างคล้ายปากคีบหรือคีมหนีบใช้หนีบ จับ หรือยึดเหยื่อเป็นอาหารได้  ประกอบด้วยปล้องฐานปล้องเดียว ส่วนปลายอาจมีรูปล่อยพิษซึ่งเชื่อมต่อถึงต่อมพิษที่ฐานปาก  นอกจากนั้นที่ปากยังมีอวัยวะคู่รูปทรงคล้ายขา แต่สั้นกว่าและมักแบนกว่า (มักเจริญดีและเห็นได้ชัดในตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มที่และในตัวเมีย) แมงมุมไม่มีหนวด  มีขา ๔ คู่  ที่ขามักมีโครงสร้างพิเศษให้ใช้ถักใยได้ เช่น มีแผ่นแบนอยู่ระหว่างง่ามเล็บ ส่วนท้องอาจกลมหรือยาวแล้วแต่ชนิดของแมงมุมที่ปลายมีท่อเป็นรูเปิดสำหรับปล่อยใยได้  บริเวณด้านล่างของส่วนท้องปล้องที่  ๒  และ ๓ มีอวัยวะทำหน้าที่เป็นจมูกสำหรับหายใจ ซึ่งมักเป็นช่อง ภายในมีแผ่นบางๆเรียงซ้อนกันคล้ายกระดาษหนังสือ แมงมุมส่วนมากที่คนไทยเห็นนั้น  มักเป็นประเภทถักใยขวางทางผ่านของสัตว์เพื่อจับกินเป็นอาหาร เมื่อมีสัตว์มาติดใยและดิ้นรน  แรงสะเทือนจะไปถึงตัวแมงมุมเจ้าของรัง แมงมุมซึ่งมีสายตาไม่ดีก็จะติดตามทิศทางของแรงสะเทือนนั้นเข้าหาเหยื่อ กัดเหยื่อ และปล่อยน้ำพิษทำให้เหยื่อสลบ  ก่อนที่จะกินเป็นอาหาร

 

แมงมุมในประเทศไทย

แมงมุมที่พบในประเทศไทยมีมาก  จัดอยู่ในหลายวงศ์  แต่ทุกวงศ์จัดอยู่ในอันดับเดียวกัน  คือ  Araneae  ชนิดที่พบในประเทศไทยนั้น  ส่วนใหญ่ไม่มีพิษร้ายถึงกับกัดคนให้เจ็บปวดหรือตายได้  ตัวอย่างเช่น
๑.แมงใย หรือ ตัวหยากไย่  เป็นแมงมุมที่พบตามบ้านเรือนและถักใยจนดูสกปรกและรกรุงรัง  มักเป็นพวกที่จัดอยู่ในสกุล  Pholcus หลายชนิด (วงศ์ Pholcidae )  แมงมุมพวกนี้มักมีลำตัวสีน้ำตาลหรือสีเทาทึบ หลังท้องสีมักเข้ม บางชนิดมีลาย ส่วนใหญ่มีลำตัวยาว ๔-๕  มิลลิเมตร ขายาวกว่าลำตัวมาก คือยาวราว ๕-๖ เซนติเมตร  ทำให้ดูเก้งก้างและบอบบาง  จึงมีชื่อสามัญว่า  daddy  long-leg  spider  คนไทยบางถิ่น เรียก แมงมุมขี้เถ้า เพราะถักใยทำให้รกรุงรังและมีฝุ่นหรือขี้เถ้ามาติด หยากไย่ที่แมงมุมเหล่านี้ถักทอไว้ในบ้าน  โดยเฉพาะในครัว  หรือที่อยู่ใกล้เตาไฟ  ซึ่งมีขี้เขม่าไฟหรือขี้เถ้าติดอยู่ด้วยกัน แพทย์โบราณใช้เป็นเครื่องยา เรียก หญ้ายองไฟ
๒. แมงมุมทำหลาว เป็นแมงมุม พวกที่ถักใยนอกบ้าน  พบมากตามแปลงพืชหรือตามเรือกสวนไร่นา  เป็นแมงมุมที่จัดอยู่ในสกุล  Tetragnatha  หลายชนิด  (วงศ์ Tetragnathidae ) ซึ่งชาวบ้านเรียก แมงมุมทำหลาว  เพราะเมื่อตกใจ  แมงมุมพวกนี้จะวิ่งไปหลบอยู่หลังใบไม้  ยื่นขา ๒ คู่แรกไปข้างหน้า ขาคู่ที่ ๔ ยื่นไปข้างหลังอยู่ในระดับเดียวกับลำตัว ขาคู่ที่ ๓ ใช้ยึดเกาะยืนตั้งฉากกับลำตัว ดูคล้ายคนที่เตรียมพุ่งหลาวลง  น้ำ แมงมุมพวกนี้ดักจับเพลี้ยจักจั่นกินเป็นอาหาร จัดเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกร
๓. แมงมุมก๋า หรือ ตัวก๋า มีชื่อวิทยาศาสตร์  Heteropodae  venatoria  (Linnaeus ) จัดอยู่ในวงศ์ Sparassidae  มีชื่อสามัญว่า  banana  spider ( เพราะมักพบแมงมุมก๋านี้ในโกดังเก็บกล้วย ) เป็นแมงมุมขาดกลาง ตัวผู้ลำตัวยาว ๑.๕-๒  เซนติเมตร  ตัวเมียมีลำตัวยาว  ๒.๕-๓ เซนติเมตร ขายาว ๕-๖ เซนติเมตร หัว อก ขา และท้องสีน้ำตาล  ตาสีคล้ำ  ที่หลังอกมีแถบสีดำหนาพาดตามขวางด้านหน้า และแถบเป็นง่ามคล้ายรูปตัววี (V) ด้านปลายอีก ๑ แถบที่สันหลังท้องมีเส้นสีน้ำตาลแก่พาดมาถึงกึ่งกลาง  อาจพบจุดสีน้ำตาลแก่เป็นลายข้างๆ  ข้างละ ๔-๕ จุด  มีขนสีน้ำตาลอ่อนบริเวณหน้าและขา  ทำให้ดูน่ากลัว แมงมุมชนิดนี้ไม่ถักใย  ออกหากินโดยการจับเหยื่อโดยตรง  พบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนหรือตามโกดังเก็บของ เป็นแมงมุมที่มีประโยชน์  เพราะชอบกินแมลงสาบ
๔.  แมงมุมมดแดง  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Myrmarachne  formicaria  Linnaeus  จัดอยู่ในวงศ์  Salticidae เป็นแมงมุมประเภทที่มีรูปร่างเลียนแบบสัตว์อื่น  พบบ่อยและมีชุกตามจังหวัดชายทะเล  เช่น  ชลบุรีหรือระยอง มีรูปร่าง   ขนาด  และสีสันใกล้เคียงกับมดแดง  และชอบอาศัยปะปนอยู่กับมดแดง แต่แตกต่างกันตรงที่เมื่อแมงมุมพวกนี้กระโดด  จะถักใยทิ้งตัวเพื่อเคลื่อนย้ายได้  เมื่อสังเกตอย่างละเอียดจริงจัง จะพบว่าจำนวนขาและลักษณะอื่นๆแตกต่างจากมดแดง

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้ “หญ้ายองไฟ”และ “แมงมุมตายซาก” เป็นเครื่องยาด้วย  ดังนี้
๑.หญ้ายองไฟ  แพทย์แผนไทยรู้จักใช้หยากไย่แมงมุมเหนือเตาไฟในครัวของบ้านไทยในชนบทสมัยก่อน (ตาไฟใช้ฟืนใช้ถ่าน)  หยากไย่แมงมุมที่มีเขม่า ขี้เถ้า  และฝุ่นเกาะอยู่ด้วยนี้ แพทย์โบราณเรียก  หญ้ายองไฟ  บางตำราเรียกเป็น  หยากไย่ไฟ  หรือ  หยักไย่ไฟ  ก็มี  ใช้เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง
ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า  หญ้ายองไฟมีรสเค็ม  เฝื่อน  มีสรรพคุณแก้โลหิต  ฟอกโลหิต  กระจายโลหิตอันเป็นลิ่มเป็นก้อน  ขับโลหิตระดู
ตำรายาไทยหลายขนานเข้า “หญ้ายองไฟ”  เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง  ในที่นี้ขอยกตัวอย่างยา  ๒  ขนาน ขนานแรกเป็นยาแก้กษัยอันเกิดเพื่อโชธาตุชื่อ “สันตัปปัคคี” ซึ่งบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไกษย  ดังนี้ ขนานหนึ่งเล่า  ถ้ามันให้จุกเสียดปวดขบเปนกำลัง  ให้เอา พริกเทศ  ๑๐๘  เม็ด  พริกล่อน  ๑๐๘  เม็ด  ผักกระชับเอาทั้งต้นรากใบลูกเอาสิ่งละ ๑ บาท  หญ้าไซย้อย  ๑  หญ้าไซแห้ง ๑ เอาสิ่งละ ๑ บาท  หญ้ายองไฟ  ๑  บาท  ไพลแห้ง  ๑  บาท  ตำเปนผง  ละลายน้ำสุรา น้ำส้มซ่า น้ำขิง น้ำมะนาว น้ำกระเทียมก็ได้  ยักกระสายให้ชอบโรคนั้นเถิด อีกขนานหนึ่งเป็นยาขับโลหิตของสตรีซึ่งมีบันทึกไว้ใน  พระคัมภีร์มหาโชตรัต ดังนี้ อนึ่งเอา หัศคุณเทศ ๑   แก่นแสมทะเล  ๑  หญ้ายองไฟ  ๑  ขมิ้นอ้อย  ๑  บดละลายสุรากิน  ใหขับโลหิตดีนักแล ตำรับยาบางขนาน  เจ้าของตำรับอาจเขียนตัวยาไว้เป็นปริศนาให้ตีความกันเอาเอง  เช่น  ยาแก้บิดขนานหนึ่ง  เจ้าของยาให้ตำรับยาไว้ว่า “ลุกใต้ดิน  กินตีนท่า  อยู่หลังคา  ขี้คารู  คู่อ้ายบ้า”  ซึ่งหมายถึง “รากเจตมูลเพลิง  ๑  ผักเป็ด ๑  หญ้ายองไฟ ๑  ขี้ยาฝิ่น  ๑  สุราเป็นน้ำกระสาย
๒. แมงมุมตายซาก  แพทย์แผนไทยใช้แมงมุมที่ตายแล้วซากแห้งสนิท  ไม่เน่าเหม็นและไม่ขึ้นรา  เป็นเครื่องยาในยาไทยโบราณหลายขนาน  เช่น  “ยานากพด”  ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์  ดังนี้ ยาชื่อนากพด  ท่านให้เอา ใบหนาด  ๑  พริกไทย  ๑  เบี้ยจั่นเผา  ๑  ขิง ๑  รังหมาร่าเผา  ๑  แมงมุมตายซาก  ๑  ลำพัน  ๑  รวมยา  ๗  สิ่งนี้เอาเสมอภาค  บดทำแท่งไว้  แก้ทรางทั้งปวง  แก้ละอองพระบาท  แก้ตะพั้น  ทั้งกินทั้งชะโลมดีนัก

 

รูปภาพจาก:news.mthai.com,timome.com