สมุนไพรขี้อ้าย

สมุนไพรขี้อ้าย

ขี้อ้าย Terminalia triptera Stapf.
ชื่อพ้อง T. nigrovenulosa pierre ex Laness.
บางถิ่นเรียก ขี้อ้าย หานกราย (ราชบุรี) กำจาย (เชียงใหม่); กำจำ (ภาคใต้) คำเจ้า ปู่เจ้า ปู่เจ้าหามก๋าย พระเจ้าหอมก๋าย พระเจ้าหามก๋าย สลิง หามก๋าย (ภาคเหนือ) ตาแดง (ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา) แนอาม (ชอง-จันทบุรี) เป็น (สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์) ประดู่ขาว (ชุมพร) แฟบ (ประจวบคีรีขันธ์) มะขามกราย หนามกราย หามกราย (ชลบุรี) สีเสียดต้น แสงคำ แสนคำ (เลย) หนองมึงโจ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) หอมกราย (จันทบุรี).

ไม้ต้น ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง สูง 3-10 ม. ที่โคนต้นมีพูพอนขนาดเล็ก มักมีกิ่งย่อยรอบ ๆ ลำต้นด้านล่าง และหลุดร่วงไปเมื่อแก่ เปลือกเรียบ สีน้ำตาล มักมีรอยแตกตามยาวตื้น ๆ. ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน หรือ ค่อนข้างตรงข้ามกัน รูปไข่ กว้าง หรือ รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 3-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ขนเกลี้ยง เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ปลายใบแหลม หรือ แหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบสอบแคบ หรือ กลม มักมีต่อม 1 คู่ ที่ขอบใบใกล้ ๆ โคนใบ ก้านใบเล็กเรียว ยาว 0.5-1.2 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ หรือ ที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2.5-5 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้าน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ตอนล่างเป็นท่อยาว 0.8 มม. ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่มี 4 หรือ 5 กลีบ ขนเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้มี 10 อัน ก้านเกสรผู้ยาว 3 มม. รังไข่มี 1 ช่อง ท่อเกสรเมียยาว 2.5 มม. ผล รูปขอบขนาน หรือ เบี้ยว กว้าง 1.0-1.5 ซม. ยาว 1.5-2.5 ซม. มีปีก 3 ปีก เกลี้ยง.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งที่ดินเป็นหินปูน ควอทไซท์ หรือ หินชนวน.

สรรพคุณ : เปลือก เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ แก้โรคบิด ท้องร่วง ใช้ภายนอกชะล้างบาดแผลเรื้อรัง และห้ามเลือด

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,สมุนไพร