สมุนไพรกะทือ

สมุนไพรกะทือ

ชื่อพื้นเมืองอื่น กะทือป่า กะแวน กะแอน แฮวดำ (ภาคเหนือ) เฮียวข่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เปลพ้อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เฮียวแดง เฮียวดำ (แม่ฮ่องสอน) กะทือ (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber zerumbet. (L.) Sm.
ชื่อพ้อง Amomum Zerumbet L. Zingiber amaricans Blume
ชื่อวงศ์   ZINGIBERACEAE
ชื่อสามัญ Wild Ginger.

 

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (H) -> ที่มีลำต้นใต้ดินลักษณะเป็นเหง้า มีกลิ่นน้ำมันระเหย เนื้อในเหง้าหรือลำต้นใต้ดินมีสีขาวอมเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง แทงหน่อออกด้านข้างและนอกสุด ลำต้นส่วนของกาบใบที่แผ่ออกแล้วหุ้มซ้อนทับกันจนกลายเป็นลำต้นเทียมมีสีเขียว สูงประมาณ 2 เมตร
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนและสอบเรียวเข้าหาก้านใบ ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบสีเขียวเข้ม ท้องใบหรือใต้ใบมีขนสีขาวนาลปกคลุมก้านใบสั้น
ดอก -> ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงสด แตกช่อจากหัวใต้ดินดโผล่พ้นดินขึ้นมา ช่อดอกที่เห็นเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียวปนแดง ปลายและโคนมนโค้ง ประกอบด้วยใบประดับที่เรียงซ้อนกันแน่น เมื่อดอกยังอ่อนจะปิดแน่น และจะขยายอ้าออกให้เห็น ดอกที่อยู่ภายในลักษณะเป็นหลอดโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ กลีบดอกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวนวล โคนกลีบดอกม้วนห่อส่วนปลายกลีบผายกว้าง

ผล -> ลักษณะกลม โต แข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีสีแดง เป็นแบบผลแห้งแตก

 

นิเวศวิทยา

กระทือพบขึ้นเป็นกอๆ ตามป่าดงดิบทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร

 

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังแฉะ สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล ปลูกโดยการตัดใบออกให้เหลือประมาณ 15 ซม. ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือเหง้า

 

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคุณ

ราก -> รสชื่นขมเล็กน้อย แก้ไข้ แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้ต่างๆ แก้เคล็ดขัดยอก
เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน -> รสชื่นขมปร่า แก้แน่นหน้าอก แก้ปวดมวนในท้อง บำรุงน้ำนมให้สมบูรณ์ เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้เสมหะเป็นพิษ แก้บิด ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร แก้บิดปวดเบ่ง เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ฝี ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น แก้ไข้ตัวเย็น แก้กระษัย แก้ท้องอืด แก้โรคลม เป็นยาระบาย แก้ปัสสาวะขุ่นขัน แก้บิด บำรุงธาตุ
ลำต้น -> รสชื่นขม เป็นยาแก้เบื่่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้
ใบ -> รสชื่นขมเล็กน้อย ใช้ใบต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับเลือดเน่าในมดลูก (เลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ) ขับน้ำคาวปลา ใช้ผสมในตำหรับยาร่วม กับสมุนไพรอื่น เป็นยาแก้ไข้ป่า อีสุกอีใส เป็นยาประคบเส้นฟกช้ำ ถอนพิษไข้ แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้อีดำอีแดง แก้หัด ไข้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้เปลี่ยนฤดู แก้ไข้เชื่องซึมผิดสำแดง                           
ดอกและเกสร -> รสชื่นขมเล็กน้อย แก้ไข้เรื้อรัง แก้ผอมแห้ง แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้จับสั่น แก้ผอมเหลือง บำรุงธาตุ แก้ลม

 

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

1. ขับเลือดเน่าในมดลูก ขับน้ำคาวปลา โดยใช้ใบสด 1 กำมือ หรือประมาณ 20 กรัม ต้มในน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร

2. รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดและปวดท้อง โดยใช้ลำต้นใต้ดินหรือเหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัวหรือหนักประมาณ 20 กรัม ย่างไฟพอสุกโขลกกับน้ำปูนใสคั้นเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ

 

รูปภาพจาก:สาระเร็ว.com,thaikasetsart.com,สมุนไพร