สมุนไพรขี้กาแดง

สมุนไพรขี้กาแดง

ขี้กาแดง Gymnopetalum integrifolium Kurz ชื่อพ้อง Trichosanthes integrifolia Kurz
บางถิ่นเรียก ขี้กาแดง (กรุงเทพฯ) ขี้กาน้อย (นครราชสีมา) แตงโมป่า (กาญจนบุรี) มะกาดิน (ชลบุรี).

ไม้เถา ลำต้นสาก มือเกาะมี 1-2 แฉก. ใบ เดี่ยว เรียงแบบบันไดเวียนห่าง ๆ รูปไข่ป้อม ๆ หรือ เกือบกลม, มี 5 เหลี่ยม หรือ 5 แฉก กว้างยาวประมาณ 7.5 ซม. โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเกือบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลม ผิวด้านบนสาก และหยาบ, ด้านล่างมีขนหนาแน่น ก้านใบยาวประมาณ 2.5 ซม. ดอก ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียเกิดบนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาวประมาณ 4 ซม. กลีบรองกลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ปลายแยกออกเป็นแฉกรูปหอก 5 แฉก มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันที่โคนกลีบเพียงเล็กน้อย, กลีบรูปไข่กลับ สีขาว มีเส้นสีเหลือง มีขน. ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาวประมาณ 6 มม. กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก ลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปขอบขนาน ภายในมี 1 ช่อง ท่อรังไข่ปลายแยกเป็นแฉกยาว รูปขอบขนาน 3 แฉก. ผล รูปกลม, มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.7-2 ซม. สีแดงอมส้ม ผิวเรียบ. เมล็ด รูปรี แบน ขอบเรียบ.

นิเวศน์วิทยา : ขึ้นตามป่าทั่วไป.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก ดื่มเป็นยาลดไข้ รากแห้งบด กินเป็นยาแก้ม้ามย้อย ตับโต และอวัยวะภายในช่องท้องอื่น ๆ บวมโต เหง้า น้ำเต้าเหง้า เป็นยาบำรุงธาตุ และหัวใจ ต้น น้ำต้มเถา ดื่มเป็นยาบำรุงน้ำดี ระบาย ขับเสมหะ ดับพิษและแก้ไอเป็นเลือด ผล รสขมจัด และขื่นมาก เป็นยาถ่ายอย่างแรง ขับพยาธิไส้เดือน และแก้เด็กเป็นตานขโมย

 

รูปภาพจาก:dnp.go.th,coloncancerzone.com,สมุนไพร