สมุนไพรงิ้ว

สมุนไพรงิ้ว 

งิ้ว (Bombax ceiba Linn.)
บางถิ่นเรียกว่า  งิ้ว งิ้วบ้าน (ทั่วไป) งิ้วแดง (กาญจนบุรี) งิ้วปง งิ้วปงแดง สะเน้มระกา (ซอง-จันทบุรี).

งิ้วเป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จะทิ้งใบหมดก่อนออกดอก ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมคม กิ่งก้านมีหนามแหลมคม กิ่งก้านแผ่สาขาเกือบตั้งฉากกับลำต้น. ใบ เป็นใบประกอบรูปนิ้วมือ มีใบย่อย 4-7 ใบ ใบย่อยมีขนาดกว้าง 4-6 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายใบเรียวเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบสอบแคบ ก้านใบยาว 10-12 ซม. ก้านใบย่อยยาว 2.5 ซม. หูใบร่วงง่าย. ดอก ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง กระจุกละ 3-5 ดอก โคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วยแข็งๆ สีเขียว ยาวประมาณ 2.5 ซม. ด้านนอกมีขนมันเป็นเงา ที่ปลายหยักเป็น 3-4 แฉก แต่ละแฉกมีรูปและขนาดแตกต่างกัน; กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน แต่ละกลีบยาว 5-8 ซม. สีแดง หรือ เหลือง เมื่อบานเต็มที่ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับ เผยให้เห็นเกสรผู้จำนวนมาก; โคนก้านเกสรจะติดกันเป็นกลุ่ม ๆ และติดอยู่กับฐานโคนกลีบดอกด้านใน; เกสรเมีย 1 อัน อยู่ตรงกลางดอก มีท่อเกสารเมีย 1 อัน ยาวกว่าเกสรผู้ ปลายท่อเกสรเมียแยกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปดาว. ผล รูปกลม ยาว เหมือนลูกนุ่น ภายในมีเมล็ดสีดำหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาวมากมาย.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ.

สรรพคุณ : ใบ ตำเป็นผงทาภายนอกแก้ฟกช้ำ ฝนกับน้ำทาแก้ต่อมอักเสบ เปลือก มีน้ำฝาด ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิด ราก ขับปัสสาวะ เป็นยากระตุ้น  ยาบำรุง ราก และ เปลือก ทำให้อาเจียน ยาง เป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ ห้ามเลือดภายใน ฝาดสมาน บำรุง ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องร่วง  แก้บิด และแก้ระดูตกมากเกินไป ดอก แห้ง ทำยาแก้น้ำร้อนลวก แก้ปวด แก้คัน แก้พิษไข้  บางแห่งใช้ผสมกับเมล็ดฝิ่น น้ำนมแพะและน้ำตาล แก้ริดสีดวง ดอก และ ผล แก้พิษงู

 

รูปภาพจาก:ไทย.com,civicfbthailand.com