เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว

ชื่อพื้นเมืองอื่น  ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ) ตั้งชู้อ้วย , ตอชุวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เจตมูลเพลิงขาว (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Plumbaga zeylanica L.
ชื่อวงศ์  PLUMBAGINACEAE
ชื่อสามัญ White leadwort.

 

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มขนาดเล็ก (US) -> สูงประมาณ 1-1.5 เมตร กิ่งอ่อนเป็นรองและเป็นเหลี่ยมสีเขียว แตกกิ่งก้านสาขารอบๆต้นมากมาย
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีสีเขียวเข้ม ลักษณะคล้ายกับใบมะลิแต่จะใหญ่กว่า
ดอก -> ออกดอกเป็นช่อที่ส่วนยอดของต้น ดอกมีสีขาว โคนหลอดจะเป็นหลอดเล็กๆ แต่ส่วนปลายจะบานคล้ายจานมีอยู่ 5 กลีบ กลีบดอกจะบางมาก กลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว และมีขนปกคลุมอยู่ ซึ่งขนนี้จะมีต่อมเหนียวๆติดมือ
ผล -> เป็นผลแห้ง ลักษณะรูปรี ยาว กลม สีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกออกได้

 

นิเวศวิทยา

มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และเขตร้อนทั่วไป เกิดตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณทั่วๆไป เป็นไม้ที่ชอบอยู่ร่มรำไร

 

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น และสภาพดินทั่วๆไป  ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือการปักชำกิ่ง 

 

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคุณ

ราก -> รสร้อน ใช้เป็นยาขับประจำเดือน แก้ปวดข้อ ขับพยาธิ ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน ระงับอาการปวดฟัน และแก้ท้องร่วง ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ขับโลหิตระดู แก้ริดสีดวงทวาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
ต้น  -> รสร้อน แก้โลหิตอันเกิดแต่กองกำเดา
ใบ -> รสร้อน แก้อาการน้ำดีนอกฝัก หรือแก้อพัทธปิตตะสมุฏฐาน
ดอก -> รสร้อน แก้อาการน้ำดีนอกฝัก หรือแก้อพัทธปิตตะสมุฏฐาน

 

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

1. ขับประจำเดือนหรืบขับโลหิตระดู โดยใช้รากสด 5-10 กรัม หรือแห้งประมาณ 3-5 กรัม ล้างน้ำให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นต้มในน้ำสะอาด 500 ซีซี นานประมาณ 10 นาที แล้วกรองเอาน้ำ ดื่มวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น

 

ข้อควรทราบ

  • รากมีสาร plumbagin ลำต้นมีเหมือนกัน แต่น้อยกว่าราก

  • ต้องการให้เป็นยาช่วยย่อยหรือเจริญอาหาร ให้นำผงของรากเจตมูลเพลิงแดงมาผสมกับลูกสมอพิเภก ผลดีปลี และเกลือ อย่างละเท่าๆกัน รับประทานครั้งละ 2.5 กรัม

  • สตรีที่มีครรภ์ห้ามรับประทานรากของต้นนี้ เพราะรากจะมีสารบางอย่างที่ทำให้แท้งบุตรได้

 

รูปภาพจาก:matichonweekly.com,สมุนไพร-ไทย.com