สมุนไพรตะโกสวน

สมุนไพรตะโกสวน

ตะโกสวน Diospyros malabarica (Desv.) Kostel. var. malabarica Kostel.
บางถิ่นเรียก ตะโกสวน ปลาบ (เพชรบุรี) ตะโกไทย (กลาง) มะเขือเถื่อน (สกลนคร) มะสุลัวะ (กะเหรี่ยง-ลำปาง)

ไม้ต้น -> ขนาดกลาง สูงถึง 15 ม. เปลือกสีเทาปนดำ เรียบ หรือ แตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว เนื้อไม้สีขาว.
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน หรือ ขอบขนานแกมรูปหอกกลับ กว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนใบมน ป้อม ตรง หรือ บางทีก็ค่อย ๆ สอบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลมทู่ ๆ หรือ มน เนื้อใบค่อนข้างหนา และเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เส้นใบมี 10-18 คู่ เส้นคดไปมา นูนเห็นได้ชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห เห็นได้ชัดทางด้านบน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. เกลี้ยง.
ดอก -> ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนนุ่มประปราย กลีบรองกลีบดอก 4-(5) กลีบ ยาว 2-3 มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนยาว แน่น ส่วนด้านในมีขนสั้น ๆ กลีบดอก 4-(5) กลีบ ยาว 7-15 มม. ติดกันเกือบตลอดเป็นรูปเหยือกน้ำ ด้านนอกมีขนแน่น หรือ มีขนตามแนวกึ่งกลางของกลีบเท่านั้น ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรผู้มี 24-64 อัน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่ฝ่อ มีขนนุ่ม. ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ แต่ใหญ่กว่า เกสรผู้ฝ่อมี 8-12 อัน มีขนนุ่ม รังไข่รูปป้อม เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนแข็ง ๆ คลุมแน่น ภายในแบ่งเป็น 8-12 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1 หน่วย หลอดรังไข่มี 4 หลอด มีขนแน่น.
ผล -> กลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-5 ซม. ผลอ่อนมีขนยาวคลุม ผลสุกเนื้อค่อนข้างเละ กลีบจุกผลมีขนสีน้ำตาลทั้ง 2 ด้าน กลีบพับกลีบ ขอบกลีบเป็นคลื่น เส้นกลีบไม่ปรากฏชัด ก้านผลยาว 2-12 มม.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นมากตามชายป่าดิบ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ส่วนมากมักปลูกกันตามสวน.


สรรพคุณ

ต้น -> น้ำต้มเปลือก เป็นยาฝาดสมาน กินเป็นยาลดไข้ ถ้าต้มกับผลอ่อน ใช้กินแก้บิด ท้องร่วง แก้อาเจียน และไข้มาเลเรีย ถ้าต้มกับผลแก่ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอ, รักษาแผลในปาก ช่องปากและคออักเสบ
ผล -> ผลสุกกินได้ ผลดิบมียางใช้เป็นยาฝาดสมาน สำหรับทาบาดแผลเล็ก ๆ น้อยๆ ใช้ห้ามเลือด  กินแก้บิด และท้องร่วง
เมล็ด -> น้ำมันจากเมล็ด กินเป็นยาแก้บิด และท้องร่วง

สมุนไพรตะโกสวน

รูปภาพจาก:bloggang.com,chaoprayanews.com