มะละกอ

มะละกอ

มะละกอ Carica papaya Linn.
บางถิ่นเรียก มะละกอ (ภาคกลาง) ก้วยลา (ยะลา) แตงต้น (สตูล) มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ) มะเต๊ะ (มาเลย์-ปัตตานี) ลอกอ (ภาคใต้) สะกุยเส่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หมักหุ่ง (นครพนาม เลย) หมากซางพอ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน).

ไม้ต้น ขนาดเล็ก สูง 2.5-10 ม. ไม่แตกกิ่งก้านสาขา มียางสีขาว ตามลำต้นมีรอยแผลเป็นที่ใบร่วงหลุดไป. ใบ เป็นใบเดี่ยว กว้าง 25-75 ซม. เรียงเวียนสลับกันหนาแน่นที่ปลายลำต้น ตัวใบจักเป็นแฉกลึกเข้าสู่เส้นกลางใบ มีตั้งแต่ 5-7 แฉก บางครั้งพบจักเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกบางครั้งจะจักอีกครั้งหนึ่ง ขอบของแต่ละแฉกเป็นฟันเลื่อยหยาบๆ แต่ละแฉกมีเส้นกลางใบมาบรรจบกันที่โคนใบ ก้านใบกลวง ยาว 25-100 ซม. ดอก สีครีม หรือ ขาวเหลือง ออกเป็นช่อตามง่ามใบ มักแยกเป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย แต่บางครั้งพบดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย ออกเป็นช่อห้อยลง ไม่มีก้านดอก กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออกเป็นแฉกเล็กๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อแคบ ยาว 1.5-2.5 ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนนุ่ม ปลายกลีบแยกเป็นแฉกบาน โค้ง กว้าง 4-5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรผู้มี 10 อัน จัดเรียงเป็น 2 แถว ติดอยู่ที่ส่วนบนของท่อกลีบดอก ดอกตัวเมียออกเดี่ยว ๆ หรือ มี 1-3 ดอก กลีบรองกลีบดอก ค่อนข้างแบน กลีบดอก มี 5 กลีบ แยกจากกัน รูปขอบขนานแคบ กว้าง 1.4-1.7 ซม. ยาว 4.5-5.5 ซม. รังไข่ยาว 2-3 ซม. เกลี้ยง ยอดเกสรเมียแผ่กว้าง มีหลายพู สีเหลือง. ผล สด รูปรี หรือ รูปไข่ปลายแหลม ยาว 10-25 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีส้ม แดงอมส้ม หรือ สีเหลือง ปลายแหลม เปลือกเรียบ บาง ปกคลุมด้วยคราบเทา ๆ เนื้อในสีเหลืองปนครีม หรือ สีแดงอมส้ม ตรงกลางกลวง. เมล็ด มีจำนวนมาก สีดำ.

นิเวศน์วิทยา : มะละกอเป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน มักนิยมปลูกเป็นพืชกสิกรรม.

สรรพคุณ : ราก เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงน้ำนม บำรุง เจริญอาหารใช้ทาถูให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากๆ ต้นอ่อน ต้มรับประทานขับระดูขาว ทำให้แท้งใบ บำรุงหัวใจ  ขับพยาธิ แก้ไข้ บิด ตำพอกแผลเรื้อรัง ฝี แก้ปวดบวม โรคไขข้ออักเสบ โรคเท้าช้าง ผล เป็นยาเจริญอาหาร ขับลม ขับปัสสาวะระบาย บำรุงน้ำนม ยาถ่ายอ่อนๆ แก้ปัสสาวะขัด ขับพยาธิ ขับน้ำเหลืองเสีย โรคเลือดออกตามไรฟัน ยาง จากผลดิบ ใช้ทำเป็นเครื่องสำอาง เพื่อลบรอยฝ้าแก้จุดด่างดำบนใบหน้าและตามผิวหนัง เป็นยาขับพยาธิ เจริญอาหาร ขับระดู หมักเนื้อ ทำให้เนื้อนุ่ม แก้กระเพาะอักเสบ ตับและม้ามโต ในอินโดนีเซียและฟิลลิปินส์ ใช้เมื่อถูกงูกัด โดยตัดปลายของผลแล้วถูแผลจนกระทั่งเลือดไหล ใช้ภายนอกทากัดหูด ตาปลา ติ่ง ลดอาการบวมอักเสบที่เกิดจากการช้ำ เนื้อแห้ง ลดอาการบวมและเท้าอักเสบ

 

รูปภาพจาก:vigotech.co.th,linhzhimin.com