มะเฟือง

มะเฟือง

มะเฟือง (Averrhoa carambola Linn.)
บางถิ่นเรียก มะเฟือง (ทั่วไป) เฟือง (ใต้) สะบือ (เขมร)

เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งที่อยู่ตอนล่างห้อยลง ลำต้นสั้น เปลือกเรียบ สีอ่อน ตามลำต้นมีรอยแผลเป็น. ใบ เป็นใบประกอบ เรียงสลับเวียนกันไป ลักษณะคล้ายใบมะยม แต่มีขนาดเล็กกว่า ยาว 5-17.5 ซม. ใบย่อย 7-11 ใบ เรียงเป็นคู่ นอกจากใบที่ปลายมีใบเดียว ใบย่อยคู่ล่างสุดรูปค่อนข้างกลม ขนาดเล็ก คู่ที่ถัดไปขนาดจะใหญ่ขึ้นตามลำดับ กว้าง 1-3.5 ซม. ยาว 2-9 ซม. ฐานใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นติ่งสั้น ๆ ผิวใบเรียบและเป็นมัน ด้านบนสีเขียวอมเหลือง ด่านล่างสีอ่อน เนื้อใบบาง มีขนละเอียด ต้องใช้แว่นขยายจึงจะเห็น เส้นใบเล็ก บนเส้นใบมีขนละเอียด ก้านใบย่อยสั้น ประมาณ 1-3 มม. สีชมพู.ดอก ออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามใบ ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 0.5 ซม. สีม่วงอมชมพูและขาว กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีลายสีม่วงเข้ม; เกสรผู้มี 10 อัน ปลายเกสรเมียมี 5 แฉก ก้านดอกและดอกตูมสีชมพูหรือแดง. ผล ยาวประมาณ 5-14 ซม. หยักลึกตามยาว เป็นเฟือง 5 เฟือง ผิวบาง เรียบ ผลอ่อนสีเขียว แก่จัดสีเหลือง เนื้อนุ่ม อุ้มน้ำ รสเปรี้ยวๆ เฝื่อนๆ (บางพันธุ์มีรสหวาน) ส่วนมากไม่มีเมล็ดแต่บางผลมีถึง 5 เมล็ด ตัดตามขวางจะเป็นรูปดาว 5 แฉก.

นิเวศน์วิทยา : มะเฟืองปลูกทั่วไปตามสวน กล่าวกันว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิลตามชายทะเล.

สรรพคุณ : ชาวมาเลใช้ ใบ และ  ยอด บดละเอียด ทาตามตัวรักษาอีสุกอีใส แก้ขี้กลาก แก้ปวดฟัน ยาต้มจาก ใบ และ ผล แก้อาเจียน แก้ไข้ ใบ และ ราก เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน แก้ไข้ ในตังเกี๋ยใช้ ดอก เป็นยาขับพยาธิ ชาวอินโดจีนใช้ทาแก้แพ้ lacquer ผล มี oxalic acid จะทำให้ Calcium ในเลือดไปรวมตัวกันตกเป็น Clacium oxalate เป็นยาระบาย แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บิด ขับน้ำลาย ลดอาการอักเสบ แก้การอาเจียนเป็นเลือด ถ้าใช้มาก ๆ จะขับประจำเดือนและทำให้แท้ง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว น้ำจากผล กินแก้ไข้ ผสมสารส้มหรือเหล้าดื่มแก้นิ่ว แก้กระหาย แก้เมา แก้ท้องร่วง นอกจากนี้ยังใช้ทำความสะอาดผิวโลหะ  เปลือกต้นชั้นใน ผสมกับไม้จันทน์ (Sandal wood) และ ชะลูด (Alyxia) ทาแก้ผด

 

รูปภาพจาก:มีประโยชน์.com,pixabay.com