สมุนไพรกระชายดำ สรรพคุณ และงานวิจัย

สมุนไพรกระชายดำ สรรพคุณ และงานวิจัย

ชื่อสมุนไพร กระชายดำ
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น กระชายม่วง , ว่านเพชรดำ , ขิงทราย (มหาสารคาม) , ว่านจังงัง , ว่านพญานกยูง , ว่านกั้นบัง ,ว่านกำบัง , ว่านกำบังภัย , กะแอน . ระแอน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia parviflora Wallich. ex Bakerสมุนไพรกระชายดำ สรรพคุณ และงานวิจัย
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae

ถิ่นกำเนิด กระชายดำ

มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หนาแน่นในแถบมาเลเซีย สุมาตรา เกาะบอร์เนียว อินโดจีน และในประเทศไทย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในเอเชียเขตร้อน ในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และพม่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีการปลูกกระชายดำมากในจังหวัดเลย ตาก กาญจนบุรี และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ

 

ลักษณะทั่วไปของกระชายดำ

กระชายดำจัดเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีมีเหง้าอยู่โต้ดิน โดยในแต่ละส่วนมีรายละเอียดดังนี้
• เหง้ากระชายดำ นั้นมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นปุ่มป่นเรียงต่อกัน และมักมีขนาดเท่าๆ กัน มีหลายเหง้าและอวบน้ำ ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาบเข้ม และอาจพบรอยที่ผิวเหง้าเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ ส่วนเนื้อภายในชองเหง้ามีสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงม่วงดำ เหง้ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีรสชาติขมเล็กน้อย โดยกระชายดำที่ดีนั้นจะต้องมีสีม่วงเข้มถึงสีดำ
• ใบกระชายดำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบหยักตามเส้นใบ ผิว ในเป็นร่องคลื่นตลอดใบตามแนวของเส้นใบ ใบมีสีเขียวสด ส่วนโคนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบหุ้มลำต้นไว้ ขอบก้านใบมีสีแดงตลอดความยาวของก้าน ส่วนกลางก้านเป็นร่องลึก
• ดอกกระชายดำ ดอกออกเป็นช่อแทรกขึ้นมาจากโคนกาบใบ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร กลีบดอกที่ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 – 3.2 เซนติเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก เกสรตัวผู้เป็นหมัน มีสีขาว ลักษณะเป็นรูปขอบขนาด มีความกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 -13 มิลลิเมตร ส่วนกลีบปลายมีสีม่วง 

การขยายพันธุ์กระชายดำ

ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวหรือแยกหน่อ ปลูกได้ทั้งปี แต่ฤดูที่เหมาะสมอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม การเตรียมหัวกระชายดำสำหรับปลูก หัวกระชายดำหัวหนึ่งจะมีหลายแง่ง ให้บิ (หัก) ออกมาเป็นแง่งๆ ถ้าแง่งเล็กก็ 2 – 3 แง่ง ถ้าแง่งใหญ่สมบูรณ์ก็แค่แง่งเดียวก็พอ เพราะเมื่อกระชายดำโตขึ้น กระชายดำก็จะแตกหน่อ และเกิดหัวกระชายดำหัวใหม่ขึ้นมาแทน และจะขยายหัวและหน่อออกไปเรื่อยๆ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ส่วนหัวหรือแง่งที่ใช้ปลูกในตอนแรกที่เหี่ยวและแห้งไปในที่สุด ก่อนนำไปปลูก ควรทารอยแผลของแง่งกระชายดำที่ถูกหักออกมาด้วยปูนกินหมาก หรือจะจุ่มในน้ำยากันเชื้อราก็ได้ แล้วผึ่งในที่ร่มจนหมดหรือแห้ง แล้วจึงนำไปปลูก การปลูกกระชายดำก็เหมือนกับการปลูกกระชายธรรมดาโดยทั่วไป สามารถปลุกได้ดีในดินที่ร่วนซุย การระบายน้ำดี แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้หัวหรือเหง้าเน่าเสียได้ง่ายส่วนในดินเหนียว และดินลูกรังไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก โดยธรรมชาติและกระชายดำขอบขึ้นตามร่มไม้ในป่าดิบ และป่าเบญจพรรณทั่วไป แต่ในที่โล่งแจ้งก็สามารถปลูกได้

องค์ประกอบทางเคมีของกระชายดำ 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในเหง้ากระชายดำมีน้ำมันหอมระเหยแต่พบในปริมาณน้อย (ราวร้อยละ 1 – 3) น้ำมันหอมระเหยของกระชายดำประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด เช่น 1.8-cineol,camphor, d-borneol และ methyl cinnamate น้ำมันหอมระเหยที่พบส่วนน้อย ได้แก่ d-pinene, zingiberene , zingiberone, curcumin และ zedoarin นอกจากนี้ ยังพบสารอื่น ได้แก่ กลุ่มไดไฮโดรซาลโคน pincocembrin และกล่มุซาลโคน (ได้แก่ 2 , 4 , 6-trihydroxy chalcone และ cardamonin)(ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร,2540)

โครงสร้างกระชายดำ1

 

กระชายดำโครงสร้างสูตรโครงสร้างทางเคมีสารกลุ่ม chalconeที่มา Rein (2005)

 

โครงสร้างกระชายดำ

 

สูตรโครงสร้างทางเคมีสารกลุ่ม Anthocyanin
ที่มา Castaneda-Ovando et al. (2009)

สรรพคุณกระชายดำ

ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยและอาการเหนื่อยล้า และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศขับลม เป็นยาอายุวัฒนะ แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง หรือโขลกกับเหล้าขาวคั้นน้ำดื่ม แก้โรคมดลูกพิการ มดลูกหย่อน ใช้กวาดคอเด็ก แก้โรคตานซางในเด็ก หรือต้มดื่มแก้โรคตา ช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศชาย แก้กามตายด้าน ด้วยการใช้เหง้ากระชายดำสดนำมาดองกับเหล้าขาวและน้ำผึ้งแท้ (ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม : เหล้าขาว 3 ขวด : น้ำผึ้ง 1 ขวด) ดองทิ้งไว้ประมาณ 9 – 15 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มวันละ 1 – 2 เป๊ก (กระชายดำไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ระยะเวลาการแข็งตัวที่นานขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวก็สามารถรับประทานเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรกขึ้นได้)หากสุภาพสตรีทานแล้วจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนทางเพศ ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย ช่วยในการนอนหลับ แก้อาการนอนไม่ค่อยหลับในตอนกลางคืน ช่วยทำให้นอนหลับดีขึ้น

รูปแบบ , ขนาดวิธีการใช้

สำหรับวิธีการใช้กระชายดำเพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้โรคบิด และลมป่วงทุกชนิด
• ถ้าเป็นเหง้าสด ให้ใช้ประมาณ 4 – 5 นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวดก่อนนำมารับประทานเป็นอาหารเย็น ในปริมาณ 30 cc. หรือ จะฝานเป็นแว่นบาง ๆ แช่กับน้ำดื่ม หรือนำมาดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1:1
• หากเป็นเหง้าแห้งก็ให้ใช้ดองกับน้ำผึ้งในอัตราส่วน 1 ต่อ นาน 7 วัน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนนอน
• หากเป็นแบบชงหรือแบบผง ให้ใช้ผงแห้ง 1 ซอง ชงกับน้ำร้าน 1 แก้ว (ขนาน 120 cc.) และแต่งรสด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลตามความต้องการ แล้วนำมาดื่ม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระชายดำ

1. ฤทธิ์ต้านอักเสบ สาร 5,7 – ได้เมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ที่แยกได้จากเหง้ากระชายดำ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบได้กับยามาตรฐานหลายชนิด คือ แอสไพริน , อินโดเมธาซิน , ไฮไดรคอร์ติโซน และเพรดนิโซโลน จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของสารนี้ ในสัตว์ทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ พบว่าสาร 5,7-DMF สามารถต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันได้ดีกว่าแบบเรื้อรัง โดยแสดงฤทธิ์ยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวจากสารคาราจีนแนน และเคโอลินได้ดีกว่าฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง granuloma จากการฝังสำลีใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ พบว่า สาร 5,7-DMF มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด exudation และการสร้างสาร prostaglandin อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบในช่องปอดของหนูขาว (rat pleurisy) (วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,2528)
2. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ สาร 5,7,4′-trimethoxyflavone และ 5,7,3′ ,4′ –tetramethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย ส่วนสาร 3,5,7,4′-tetramethoxyflavone และ 5,7,4′-trimethoxyflavone แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Candida albicans และแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Mycobacterium อย่างอ่อน (Wattanapitayakui S, Nawinprasert A, Herunsalee A, et al,2003)
3. พิษต่อเซลล์มะเร็ง (cytotoxic activity) จากการทดสอบผลของฟลาโวนอยด์ 9 ชนิดของกระชายดำต่อเซลล์มะเร็ง เช่น KB , BC หรือ NCI-H187 ไม่พบว่ามีสารใดทำให้เกิดพิษต่อเซลล์มะเร็งที่ทดสอบ (วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,2528)
4. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง มีรายงานการวิจัยว่า สารสกัดด้วยเอธานอลของกระชายดำมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ละลดการหดเกร็งของ ลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ของหนูขาว และยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของคน.(Yenchai C, Prasaphen K, Doodee S, et al,2004)

 

 

การศึกษาทางพิษวิทยา

การศึกษาพิษเรื้อรังระยะเวลา 6 เดือน ของผงกระชายดำในหนูขาว ในขนาด 20 , 200 , 1000 และ 2000 มก/กก./วัน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ พบว่า หนูที่ได้รับกระชายดำทุกกลุ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อาการและสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมหนูที่ได้รับกระชายดำขนาด 2000 มก/กก. มีน้ำหนักสัมพันธ์ของตับสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ อาจเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และมีเม็ดเลือดขาวอิโอสิฟิสที่ได้รับกระชายดำ 2000 มก./กก. มีระดับซีรั่มโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังอยู่ในช่วงค่าปกติ ผลการตรวจอวัยวะทางจุลพยาธิวิทยานั้นไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าเกิดความเป็นพิษของกระชายดำ (ทรงพล ชีวะพัฒน์, ณุฉัตรา จันทร์สุวาณิชย์, ปราณี ชวลิตธำรง และคณะ.2547)

ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

• กระชายดำสามารถรับประทานได้ทั้งหญิง และชายโดยไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ยิ่งสำหรับผู้สูงอายุก็พบว่านิยมใช้กันมานานมากแล้ว
• ผลข้างเคียงของกระชายดำ การรับประทานในขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้
• ห้ามใช้กระชายดำในเด็ก และในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ
• การรับประทานเหง้ากระชายดำติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เหงือกร่น
• แม้จะมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่ากระชายดำไม่พบว่ามีความเป็นพิษ แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินประสิทธิผล ของการใช้กระชายดำในคนจึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

1. กระชายดำ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=4
2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างอิงในหนังสือพืชสมุนไพรเล่ม 2 (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.
3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.).(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.
4. กระชายดำ.ว่านและสมุนไพรไทย.คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาศาสตร์ สกลนคร
5. รายงานวิจัยเรื่องเทคนิคการเพิ่มผลผลิตว่านกระชายดำ.สุวิทย์ วรรณศรี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์.2554หน้า4
6. ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ.ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร.องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยกระชายดำ เปราะหอม และ เฒ่าหนังแห้ง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2540
7. สุนิสา ทองสกุล.2552 การศึกษาผลของกวาวเครือขาวต่อการเจริญเติบโตของกบ.ปัญหาพิเศษมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร.มหาวิทยาลัยแม่โจ้.เชียงใหม่
8. Rein M,A.et.Copigmentation reactions ang color stability of berry anthocya nins.p.22,2005
9. Castanede-Ovando,A.et.al.Chemical studies of anthocyanins : a review.Food Chemisty,V.113,n.4,P.859-871,2009
10. กระชายดำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน).(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th
11. กระชายดำ.สถาบันการแพทย์แผนไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก: http://ittm-old.dtam.moph.go.th
12. วงศ์วิวัฒน์ ทัศนียกุล และอำไพ ปั้นทอง,การศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของ 5,7-DMF , วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2528
13. Wattanapitayakui S,Nawinprasert A,Herunsalee A,et al. Vasodiltion,antispasmodic ang antiplatalat actions of Kaempferia pawiflora.The sixth JSPS-NECT joint Seminar : Recent Adrances in Natural Medicine Research.December 2-4,2003 Bangkok,Thailang (Poster presen-tation)
14. Yenchai C.Prasanphen K,Doodee S,et al.Bioactive fla-vonoids from Kaempferia Parvifor.Fitoterapia 2004;75(1):89-92
15. ทรงพล ชีวพัฒน์ , ณุฉัตรา จันทร์สุวาณิชย์ , ปรีชา ชวลิตธำรง และคณะ.การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรังของผงกระชายดำ.วารสารกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.2547