หมวดคอร์ดาตา
หมวดคอร์ดาตา
สัตว์ในหมวดคอร์ดาตา
สัตว์ในหมวดคอร์ดาตา(Phylum Chordata) เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าหมวดอื่นๆ มีลักษณะสำคัญ คือ
๑. มีโนโตคอร์ด (notochord) เป็นแท่งโครงร่าง ซึ่งต้องมีอย่างน้อยในช่วงระยะใดระยะหนึ่งของชีวิต หรืออาจมีอยู่ตลอดชีวิต เซลล์ที่รวมเป็นโนโตคอร์ดเป็นเซลล์ที่มีช่องว่างมาก โนโตคอร์ดมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหุ้ม สำหรับสัตว์มีกระดูกสันหลังจะมีกระดูกเจริญขึ้นมาแทนที่โนโตคอร์ด และโนโตคอร์ดพบในระยะตัวอ่อนเท่านั้น
๒. มีเส้นประสาทไขสันหลังอยู่ด้านหลังเหนือทางเดินอาหาร
๓. มีช่องเหงือกอยู่บริเวณคอหอย เป็นช่องยาวอยู่ที่ผนังของคอหอย เป็นทางที่น้ำผ่านออกจากคอหอย
๔. มีระบบประสาทส่วนกลาง
๕. มีเพศแยกอยู่คนละตัว
๖. มีสมมาตรแบบทบกัน ๒ ซีก
สัตว์ในหมวดนี้อาจจำแนกออกได้เป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ สัตว์โปรโตคอร์ดาตากับสัตว์มีกระดูกสันหลัง โดยที่พวกหลังนั้น เป็นพวกที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางยามาก สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีประโยชน์ทางยา อาจจำแนกย่อยได้อีกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มปลากับกลุ่มจตุบาท
กลุ่มปลา
กลุ่มปลา (Superclass Pisces) เป็นสัตว์น้ำ หายใจด้วยเหงือก โดยให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือก ใช้ครีบในการเคลื่อนไหวและทรงตัว ส่วนใหญ่มีเกล็ดหุ้มตัว มีหัวใจ ๒ ห้อง ประสาทสมองมี ๑๐ คู่ มีเส้นข้างตัวสำหรับรับความสั่นสะเทือน รูจมูกไม่ใช้หายใจ แต่ใช้ดมกลิ่น แบ่งย่อยออกเป็น ๓ ชั้น แต่ที่พบในประเทศไทยและมีประโยชน์ทางยามีเพียง ๒ ชั้น คือชั้นปลากระดูกอ่อน (Class Chondrichthyes) กับชั้นปลากระดูกแข็ง (Class Osteichthyes)
ชั้นปลากระดูกอ่อน
ชั้นปลากระดูกอ่อน (Class Chondrichthyes) เป็นชั้นของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีกระดูกกรุบหรือกระดูกอ่อน หายใจด้วยเหงือก มีช่องเหงือกเห็นได้ชัดเจน มีราว ๓-๗ คู่ ช่องเหงือกนี้อาจอยู่ด้านข้างหรือด้านล่างของลำตัว ปากอยู่ทางด้านล่างของลำตัว มีฟัน ใช้กล้ามเนื้อลำตัวและครีบช่วยในการเคลื่อนไหว สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีการปฏิสนธิภายในตัว
ปลากระเบน
ปลากระเบนเป็นปลากระดูกอ่อนพวกหนึ่ง มีหลายชนิด หลายสกุล และหลายวงศ์ มีรวมทั่วโลกราว ๔๓๐ ชนิด ในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๒๐ ชนิด จัดอยู่ในอันดับ Rajiformes มีชื่อสามัญว่า ray เช่น ปลา-กระเบนเจ้าพระยา อันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis (Himantura) polylepis (Bleeker) จัดอยู่ในวงศ์ Trigonidae ซึ่งมีขนาดตัวกว้างกว่า ๒ เมตร หนักกว่า ๕๐๐ กิโลกรัม พบในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงแม่น้ำน่าน จังหวัดพิจิตรและยังพบได้อีกในแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำโขง
ชีววิทยาของปลากระเบน
ปลากระเบนเป็นปลาที่มีลำตัวแบน ลื่น มีเกล็ด ที่มีลักษณะเป็นปุ่มเล็กๆหรือมีผิวหนังหยาบเป็นบางแห่ง โดยเฉพาะในแนวสันหลัง ยกเว้นปลากระเบนขนุน ผิวหนังเป็นหนามคลุมทุกตัวโดยทั่วไป ปลากระเบนมีครีบอกแผ่ออกด้านข้าง ลางชนิดแผ่ออกไปจรดหัวทางด้านหน้าและหางทางด้านท้ายจนเกือบเป็นวงกลมดูคล้ายจานหรือว่าว บางชนิดแผ่ยื่นออกด้านข้างเป็นปีกคล้ายนกหรือผีเสื้อ และบางชนิดครีบอกแผ่ไปไม่ถึงส่วนหัว ทำให้หัวแยกออกจากครีบอกและเห็นหัวโหนกเป็นลอน เช่น ปลากระเบนนก อาจมีหรือไม่มีครีบหลัง ไม่มีครีบหาง ยกเว้นปลากระเบนไฟฟ้า กระเบนท้องน้ำ หรือ โรนินและโรนัน ครีบท้องอยู่ด้านล่างตรงส่วนท้ายลำตัว จะงอยปากของปลากระเบนบางชนิดยื่นแหลม เช่น ปลากระเบนขาว บางชนิดมนกลม เช่น ปลากระเบนไฟฟ้า หรือบางพวกเป็นแผ่แข็ง มีฟันห่างเรียวอยู่สองข้าง เช่น ปลาฉนาก โดยมากปลากระเบนมีตาอยู่ด้านบน มีบางชนิดที่ตาอยู่ด้านข้างหัว เช่น ปลากระเบนนก ปลากระเบนราหู ด้านหลังตาเป็นช่องหายใจ ปากและจมูกอยู่ด้านล่าง บางชนิดมีปากที่ยึดหดได้บ้าง ระหว่างปากกับจมูกมีร่องเชื่อมถึงกัน ช่องเหงือกมี ๕ คู่ อยู่ถัดไปทางท้ายของปาก ฟันเป็นฟันบด หน้าตัดเรียบหรือเป็นปุ่มเล็กๆเรียงเป็นแถวๆหลายแนว อยู่ทั้งด้านบนและด้านล่างของขากรรไกร ทวารร่วมเป็นช่องยาวรีค่อนไปทางด้านหลัง ถัดลงไปมีรูหน้าท้องเล็กๆ ๒ รู ตัวมีอวัยวะเพศเป็นแท่ง เรียกกันว่า ตะเกียบ อยู่ด้านในของครีบท้องทั้งซ้ายและขวา หางปลากระเบนอาจเรียวยาว สั้นบ้าง ยาวบ้าง มักมีผิวหยาบหรือขรุขระ บางชนิดอาจมีแผ่นหนังบางๆอยู่ด้านบนและด้านล่างของหาง อาจมีเงี่ยงหางยาวและแหลมคม ๑-๔ อัน บนหางตอนใกล้ลำตัว โคนเงี่ยงหางมีต่อมน้ำพิษอยู่ เมื่อถูกแทงจะรู้สึกปวด เงี่ยงหางนี้พบเฉพาะในปลากระเบนวงศ์ Trygonidae (Dasyatididae) และปลากระเบนนก วงศ์ Myliobatidae
ปลากระเบนในน่านน้ำไทย
ปลากระเบนที่พบในน่านน้ำของประเทศไทยมีราว ๔๐ ชนิด มีเพียง ๕ ชนิดที่พบในน้ำจืด นอกนั้นพบในน้ำเค็ม มักอาศัยอยู่กับพื้นท้องน้ำที่เป็นดินโคลนทรายหรือดินปนทราย กินสัตว์ที่อยู่ตามพื้นใต้ท้องน้ำเป็นอาหาร เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ตลอดจนเพรียงและหนอนต่างๆ
ปลากระเบนที่รู้จักกันดีจัดอยู่ใน ๔ วงศ์ คือ
๑.ปลากระเบนในวงศ์ Trigonidae (Dasytididae) เช่น
ปลากระเบนขาว [Dasyatis signifier (Campagno et Roberts)]
ปลากระเบนเสือ [Dasyatis (Himantura) gerrardi (Gray)]
ปลากระเบนธง [Dasyatis (Pastinachus) sephen (Forsskal)]
ปลากระเบนทอง [Taeniura lymma (Forsskal)]
ปลากระเบนขนุน [Urogymnus africanus (Bloch et Schneider)]
๒.ปลากระเบนในวงศ์ Myliobatidae เช่น
ปลากระเบนค้างคาว [Aetomylaeus maculatus (Gray)]
ปลากระเบนค้างคาว [Aetomylaeus niehofii (Bloch et Schneider)]
ปลากระเบนค้างคาว [Aetomylaeus narinari (Euphrasen)]
ปลากระเบนจมูกวัว หรือปลายี่สน [Rhinoptera javanica Muller et Henle]
๓.ปลากระเบนในวงศ์ Mobulidae เช่น
ปลากระเบนราหู [Mobula japonica (Muller et Henle)]
ปลากระเบนราหู [Mobula diabolus (Shaw)]
๔.ปลากระเบนในวงศ์ Torpenidinae เช่น
ปลากระเบนไฟฟ้า หรือปลาเสียว [Narke dipterygia (Bloch et Schneider)]
ปลากระเบนไฟฟ้า หรือปลาเสียว (Temera hardwickii Gray)
ปลากระเบนไฟฟ้า หรือปลาเสียว (Narcine indica Henle)
ประโยชน์ทางยา
แพทย์แผนไทยใช้ “หนังปลากระเบน” และ “เงี่ยงปลากระเบน” เป็นเครื่องยาสำหรับปรุงยาหลายตำรับหลายขนาน ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า หนังปลากระเบนมีรสมัน คาว มีสรรพคุณขับเลือด แก้ซาง ส่วนเงี่ยงปลากระเบนมีรสเย็น มีสรรพคุณดับพิษกาฬ ตำรายาศิลาจารึกวัดราชโอรสารามให้ยาแก้ซางขนานหนึ่งเข้า “หนังกระเบน” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้ อนึ่งเอา นอแรด เขากวาง หนังกระเบน ผมคน หวายตะค้า รากมะแว้ง ยาทั้งนี้ขั้ว ตรีกระตุก กระเทียม เอาเสมอภาค ทำเปนจุณ บดลายสุรากวาด แก้ละอองแล แก้ทรางช้างทั้งปวง หายอย่าสนเท่เลย วิเสศนักแล ฯ ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ให้ยาแก้พิษไข้กาฬทั้งปวงไว้ขนานหนึ่ง ชื่อ “ยาจักรวาลฟ้ารอบ” ยาขนานนี้เข้า “เงี่ยงปลากระเบน” เป็นเครื่องยาด้วย นอกจากนั้น สมัยก่อนใช้หนังปลากระเบนขัดไม้หรือเขาสัตว์แทนกระดาษทราย น้ำมันจากตับปลากระเบนก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับน้ำมันจากตับปลาชนิดอื่น ส่วนครีบปลากระเบนกินได้เช่นเดียวกับครีบปลาฉลามซึ่งคนจีนนิยมกินกัน และเรียกกันว่า “หูฉลาม”
รูปภาพจาก:thaigoodview.com,ariyawat.blogspot.com