สมุนไพรผักบุ้ง

สมุนไพรผักบุ้ง 

ผักบุ้ง  Ipomoea aquatica Forsk.
บางถิ่นเรียก ผักบุ้ง กำจร (เงี้ยว-แม่ฮ่องสน) ผักทอดยอด (กลาง) โหนเดาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน).

ไม้ล้มลุก อายุหลายปี หรือ ปีเดียว เลื้อยตามพื้นดิน หรือ ลอยอยู่บนพื้นน้ำ บางครั้งพบเลื้อยพาดพัน ยาว 2-3 ม. ภายในลำต้นกลวง รากออกตามข้อ เกลี้ยง หรือ มีขนที่ข้อ. ใบ ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันแม้ในต้นเดียวกัน มีรูปร่างตั้งแต่รูปไข่กลับ รูปสามเหลี่ยม รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปหอก หรือ รูปขอบขนานแคบ กว้าง 1-9 ซม. ยาว 3-15 ซม. ปลายใบแหลม มน หรือ เป็นหยักตื้น ๆ มีติ่งแหลมสั้น โคนใบตัด รูปหัวใจ รูปหัวลูกศร ปลายฐานตรง หรือ ปลายฐานโค้งขึ้น ปลายฐานที่โค้งขึ้นนี้อาจมน หรือ แหลม ขอบใบเรียบ หรือ เป็นซี่ฟันหยาบๆ เกลี้ยง ก้านใบยาว 3-20 ซม. เกลี้ยง. ดอก ออกเป็นช่อ มี 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาว 1-12 ซม. ก้านดอกยาว 2-6.5 ซม. ใบประดับเล็ก แคบ ปลายแหลม กลีบรองกลีบดอกยาวเท่ากัน หรือ กลีบที่อยู่รอบนอกอาจจะสั้นกว่าเล็กน้อย เกลี้ยง ขอบบาง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตรยาว 3-5 ซม. เกลี้ยง สีชมพู หรือ ม่วงอ่อนที่ใจกลางดอกมักเป็นสีม่วง บางทีสีขาวทั้งหมด เกสรผู้ติดเหนือโคนกลีบดอกประมาณ 3 มม. โคนก้านเกสรผู้มีขน รังไข่เกลี้ยง. ผล แห้ง รูปไข่ หรือ กลม ยาวประมาณ 8-10 มม. เกลี้ยง. เมล็ด มี 4 หรือ น้อยกว่า มีขนนุ่มสีเท่าหนาแน่น หรือ บางครั้งเกลี้ยง.

นิเวศน์วิทยา : ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ตามหนอง บึง และตามที่ว่างเปล่า ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 1,000 ม. แพร่พันธุ์ได้ด้วยเมล็ดและการปักชำ.

สรรพคุณ : ยอดอ่อน รับประทานเป็นผัก ประกอบด้วยสารที่มีคุณค่าทางอาหารและจำเป็นต่อร่างกาย คือ ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอสูง ทั้งต้น เป็นยาระบายอย่างอ่อน แก้โรคประสาท การเสื่อมสมรรถภาพ  โรคนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไอ อ่อนเพลีย และโรคท้องมาน แก้กลากเกลื้อน ไข้ เบาหวาน  ตาอักเสบ บำรุงสายตา แก้ตาฝ้าฟาง เป็นยาถอนพิษยาทั้งปวง ถอนพิษสำหรับผู้ที่ชอบรับประทานพริกมาก แก้พิษเบื่อเมา  คนจีนใช้ต้มกับเกลืออมแก้เหงือกบวม เป็นยาพอกริดสีดวงทวาร ยาทำให้อาเจียนเนื่องจากพิษของฝิ่นและสารหนู ใช้แก้เลือดกำเดาออก ท้องผูก หนองใน ถ่ายเป็นเลือด แผลบวมเป็นพิษ แผลฟกช้ำ ยาง เป็นยาถ่าย ราก ใช้แก้สตรีมีตกขาวมาก ฟันเป็นรูปปวด เบาขัด ไอเรื้อรัง เหงื่อออกมาก ลดบวม น้ำต้มรากใช้ล้างริดสีดวงทวา ผสมกับดอกมะพร้าว มะขาม หรือ ขิง ใช้บำบัดโรคหืด ใบ ใช้ขยี้ทาเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ตำเป็นยาพอกฝี

 

รูปภาพจาก:ath.in.th,sukkaphap-d.com