สมุนไพรมะกอก

สมุนไพรมะกอก

มะกอก Spondias pinnata (Linn.f.) Kurz
บางถิ่นเรียก มะกอก (ภาคกลาง) กอกกุ๊ก (ภาคเหนือ) กอก (ภาคใต้) ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) กอกหมอง (เงี้ยว).

เป็นไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 25 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเกลี้ยง ไม่มีขน เปลือกเรียบสีเทาแตกเป็นร่องเล็กน้อย ใบ เป็นแบบใบประกอบ คือ มีใบย่อย 3-5 คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว รูปร่างของใบย่อยแต่ละใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลม หรือ เบี้ยว เส้นใบมีมากมายขนานกัน และเชื่อมกันตรงขอบใบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยกว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7-9 ซม. ก้านใบย่อยสั้น. ดอก ออกเป็นช่อสีขาวตามปลายกิ่ง แต่ละดอกขนาดเล็ก กว้างประมาณ 4 มม. ไม่มีก้านดอกจึงแลเห็นเป็นกลุ่ม ๆ อยู่บนช่อดอก กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ ร่วงง่าย กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน เกสรเมียปลายแยกเป็น 4 แฉก รังไข่ไม่มีก้าน. ผล เป็นผลสดมีเนื้อรูปไข่ หรือ รูปรี ขนาดกว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 3-5 ซม. เมื่อสุกมีสีเหลืองอมน้ำตาล.

นิเวศน์วิทยา  พบในป่าเบญจพรรณ และป่าแดงทั่วไป.

สรรพคุณ  ใบอ่อน และช่อดอก รับประทานได้เป็นผัก ผลรสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ รับประทานได้ ใช้เป็นเครื่องชูรสในการประกอบอาหารบางชนิด. แพทย์แผนโบราณของไทย ใช้ผลเปลือก ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ แก้กระหายน้ำ และเลือดออกตามไรฟัน เนื้อในผลรสเปรี้ยว ฝาด หวานชุ่มคอ แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้โรคบิด ใบใช้แก้ปวดท้อง น้ำคั้นจากใบใช้หยอดแก้ปวดหู เปลือกดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน และสะอึก เมล็ดเผาไฟชงน้ำรับประทาน แก้ร้อนใน หอบ และสะอึก ในอินเดียก็ใช้ผล เปลือก และใบ เป็นยาเช่นเดียวกัน ผลใช้แก้โรคโลหิตตามไรฟัน เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด ใช้แก้โรคธาตุพิการเนื่องมาจากน้ำดี เปลือกใช้รักษาโรคบิด นำมาบดเป็นผงผสมน้ำใช้ทาเมื่อปวดกล้ามเนื้อ และปวดในข้อ น้ำที่ต้มจากใบใช้แก้ปวดหู.

 

รูปภาพจาก:kasetporpeang.com