น้ำมันขนแกะ

น้ำมันขนแกะ

น้ำมันขนแกะ (wool-fat  หรือ  Adeps  Lanae)

เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขนแกะ ตอนปลายฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูร้อน น้ำมันนี้มีส่วนสำคัญเป็นคอเลสเตอรอลและไฮโซคอเลสเตอรอล (isocholesterol) ตลอดจนเอสเตอร์ของกรดมันชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น กรดแลโนแพลมิติก (lanopalmitic  acid) กรดแลโนชอลิก (lanocerric  acid) กรดคาร์นิวบิก  (carnubic  acid) กรดโอลีอิก (oleic  acid) กรดไมริสติก (myristic  acid) น้ำมันขนแกะนี้ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อดูดน้ำในการทำยาขี้ผึ้ง (ointment)  และยาครีม  (cream) และใช้สำหรับทากันผิวหนังแห้งแตก โดยเฉพาะอากาศหนาวเมื่ออากาศแห้งมาก น้ำมันขนแกะที่มีน้ำผสมอยู่ด้วยร้อยละ ๒๕-๓๐ (hydrated  wool-fat) เรียก แลโนลิน  (lanolin)

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้น้ำนมแกะและเขาแกะเป็นกระสายยาและเครื่องยา ดังนี้
๑. น้ำนมแกะ ได้จากแกะตัวเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) บันทึกไว้ว่า “น้ำนมแกะแก้หืดไอ และจุกเสียด เจริญไฟธาตุ” ยาขนานที่  ๖๖ ในตาราพระโอสถพระนารายณ์ เข้า”น้ำนมแกะ” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
น้ำมันมหาวิศครรภราชไตล เอาโหราทั้งสอง หนัก ๗ บาท สค้าน  ชะพลู เปล้าใหญ่ เปล้าราม เปล้าน้ำเงิน เทียนทั้ง ๕  เทียนเยาวภานีเป็น  ๖  โกฏทั้ง ๕ กานพลู ใบกระวาน ลูกเอ็น  จันทน์แดง จันทน์ขาว หางไหล  มหาละลาย   ลูกตลอด สิ่งละตำลึง  ๑  ตรีกฏุก เปล้าน้อย พิมเสน รากไคร้หอม  รากแฝกหอม ไค้เครือ เปราะหอม สิ่งละ ๒ ตำลึง รากคันทา สหัสคันทา  อัชระคันทา  อบเชย รากผักแผ้วแดง รัตโชติ สิ่งละ  ๓  ตำลึง   รากเจตมูลเพลิง แก่นสน สิ่งละ  ๔  ตำลึง  กฤษณา  ใบตลอด สิ่งละ  ๕  ตำลึง  ลูกลางโพง   ๒๐  ลูก  น้ำมะกรูด   น้ำมะนาว น้ำมะงั่ว น้ำส้มส้า น้ำนมโค น้ำนมกระบือ  น้ำนมแกะ น้ำนมแพะ น้ำมันคูเลละ น้ำมันเชตะ น้ำมันพิมเสน  น้ำมันดิน  สิ่งละทนาน   น้ำมันงาเชย  ๗  ทนาน มะพร้าวไฟ  ๓  ลูก บิดเอาแต่กะทิ หุงให้คงแต่น้ำมัน   ทาแก้เส้นอุทธังคมาวาตา   อโธค   มาวาตา   อันระคน พระโลหิต แล่นในพระเส้นสะดวก ให้พระเส้นตึงแลกระด่างนั้นออกเป็นปรกติ ข้าพพุทธเจ้าออกพระสิธิสารประกอบทูลเกล้าฯ   ถวายให้ทรง   ณ  วัน  ๓ ฯ. ๑๐  ค่ำ  ศักราช  ๒๒๓๐   ปีขาล  อัฐศกฯ


๒.เขาแกะ   ได้จากเขาของแกะทั้งเพศผู้และเพศเมีย   ใช้เป็นเครื่องยาในยาไทย  ตัวอย่างเช่น  “ยาจักรวาลฟ้าครอบ”   ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์  ซึ่งมีบันทึกไว้ดังนี้ยาชื่อจักรวาลฟ้าครอบ   แก้พิษไข้กาฬทั้งปวง   สารพัดพิษอันใดๆก็ดี   พิษกาฬภายในภายนอก   ในกลุ้มในใจก็ดี   แลพิษกาฬทั้งปวง  ๗๐๐   จำพวกที่มิได้ขึ้นมาทำพิษ   คุดอยู่ในหัวใจแลตับปอดทั้งภายในก็ดี   แลหลบอยู่ตามผิวหนังภายในก็ดี   แลพิษฝีดาษฝีหัวเดียว  ก็ดี   ตานทรางก็ดี   ท่านให้ยำยาขนานใหญ่นี้ไว้แก้   เว้นไว้แต่บุราณกรรมแลปัจจุบันกรรมนอกนั้นหายสิ้นแล   แพทย์ทั้งปวงจงเร่งทำยาขนานนี้ขึ้นไว้ให้เถิด   จึงจะสู้กันกับกาฬ   ๗๐๐  จำพวกได้   ท่านให้เอา  เขี้ยวเสือ  ๑   เขี้ยวหมู  ๑   เขี้ยวหมี  ๑   เงี่ยงปลาฉนาก  ๑   เงี่ยงปลากระเบน  ๑   นอแรด  ๑   งาช้าง  ๑   เขากุย  ๑   เขากวาง  ๑   เขาแพะ  ๑   เขาแกะ  ๑   ทั้งนี้คั่วให้เกรียม   หวายตะค้า  ๑   หวายตะมอย  ๑   เจ็ตภังคี  ๑   สังกรณี  ๑   ดอกสัตบุศย์  ๑   สัตตบงกช  ๑   สัตบัน  ๑   บัวหลวง  ๑   บัวขม  ๑   บัวเผื่อน  ๑   จงกลนี  ๑   พิกุล  ๑   บุนนาค  ๑   สารภี  ๑   มะลิซ้อน  ๑   มะลิลา  ๑   ดอกจำปา  ๑   ดอกกระดังงา  ๑   กฤษณา  ๑   กะลำพัก  ๑   ขอนดอก  ๑   ใบพิมเสน  ๑   พิมเสนเกล็ด  ๑   การะบูร  ๑   น้ำประสานทอง  ๑   โกฏทั้ง  ๕  หนึ่ง   เทียนทั้ง  ๕  หนึ่ง   ลูกจันทร์  ๑   ดอกจันทร์  ๑   กระวาน  ๑   กานพลู  ๑   สมุลแว้ง  ๑   เห็ดกะถินขาว  ๑   เห็ดกระถินพิมาน  ๑   เห็ดมะพร้าว  ๑   เห็ดตาล  ๑   เห็ดงูเห่า  ๑   เห็ดมะขาม  ๑   เห็ดไม้รัง  ๑   เห็ดไม้แดง  ๑   เห็ดตับเต่า  ๑   หัวมหากาฬทั้ง  ๕  หนึ่ง   ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน   สารพัด  (ดี)   เป็นน้ำกระสายบดปั้นแท่งไว้   แก้กาฬ  ๗๐๐  จำพวก   แก้ได้ทุกประการ   น้ำกระสายยายักใช้เอาตามแต่ที่ชอบด้วยโรคนั้นเถิด   แก้ในวสันตฤดู   คือน่าฝนแล

 

รูปภาพจาก:toeasteducation.com,parios.co.th