สมุนไพรพลับพลึง

สมุนไพรพลับพลึง

พลับพลึง (Crinum asiaticum Linn.)
บางถิ่นเรียก พลับพลึง(ภาคกลาง) ลิลัว (ภาคเหนือ)

เป็นไม้ล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นกลม กว้างประมาณ 15 ซม. สูงประมาณ 30 ซม. ใบ ออกรอบ ๆ ลำต้น รูปใบแคบยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ใบอวบน้ำ กว้าง 10-15 ซม. ยาวประมาณ 1 เมตร. ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 90 ซม. ตอนปลายมีดอกเป็นกระจุก 12-40 ดอก อยู่บนก้านดอกสั้นๆ เมื่อดอกยังอ่อนอยู่มีกาบสีเขียวอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบดอกติดกัน ตอนโคนเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบแคบ ๆ ยาวเรียวแหลม 6 กลีบ ดอกยาวประมาณ 15 ซม. เกสรผู้ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ส่วนตอนปลายเรียวแหลมยาว ปลายเกสรสีแดง โคนขาว อับเรณูสีน้ำตาล ผล สีเขียวอ่อน ค่อนข้างกลม.

นิเวศน์วิทยา  ชอบขึ้นตามที่แฉะ ๆ และนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.

สรรพคุณ  แพทย์แผนโบราณของไทย ใช้ใบพันแก้ฟกช้ำ บวม เคล็ด ขัด ยอก โดยเอาใบมาย่างไฟให้ตายนึ่ง พอให้ใบอ่อนตัวลง แล้วพันรอบ ๆ อวัยวะที่เจ็บและหักแพลง จะถอนพิษได้ดี ใบพลับพลึงมีรสเอียน ต้มรับประทานจะทำให้อาเจียน ในอินเดีย ใช้หัวซึ่งมีรสขม เป็นยาบำรุงกำลัง ยาระบาย และขับเสมหะ ทำให้อาเจียน คลื่นเหียน รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี และโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะ ในหัวมี alkaloid narcissine ในรากก็มีสาร alkaloid narcissine และ crinamine รากสด ๆ ทำให้อาเจียน เหงื่อออกมาก คลื่นเหียน เมล็ดเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับโลหิตประจำเดือน และเป็นยาบำรุง สำหรับสรรพคุณที่ใช้เป็นยาทำให้อาเจียนนั้น ไม่ใคร่จะนิยมใช้กัน ชาวมาเลเซีย ใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียว หรือ บางทีก็ใช้ปนกับชนิดอื่น ๆ ตำปิดส่วนที่ปวด ลดอาการไข้ ปวดศีรษะ และแก้บวม บางทีก็ใช้หัวมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใช้แทนใบแก้ปวดบวม ในอินโดนีเซียใช้แก้พิษยางน่อง โดยเคี้ยวรากให้แหลกจนเป็นน้ำ กลืนเอน้ำเข้าไป จะทำให้อาเจียนเอาพิษร้ายออกมา  แล้วก็เอาตำพอกแผลอีกครั้งหนึ่ง

 

รูปภาพจาก:blogspot.com,.wanthai.com,สมุนไพร