สมุนไพรตะขบควาย

สมุนไพรตะขบควาย

ตะขบควาย Flacourtia jangomas (Lour.) Raeusch.
บางถิ่นเรียก ตะขบควาย (ภาคกลาง) กือคุ (มลายู-ปัตตานี) ครบ (ปัตตานี) มะเกว๋นควาย (ภาคเหนือ)

ไม้ต้น -> ขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 5-10(-14) ม. ต้นอ่อนมีหนาม เมื่อแก่เกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนถึงสีทองแดง หรือ สีเหลืองอมชมพู ล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ ตามกิ่งอ่อนมีจุดสีขาว ๆ จำนวนมากเป็นช่องระบายอากาศ
ใบ -> เดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปไข่ค่อนข้างแคบ ถึงรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-10 ซม. ปลายใบเรียวยาว ที่ปลายสุดทู่ โคนใบกลม หรือ แหลม ขอบใบจักตื้น ๆ เนื้อใบค่อนข้างบาง ใบอ่อนออกสีชมพู หรือ สีน้ำตาลอ่อน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยง ด้านบนเป็นมัน ก้านใบยาว 6-8 มม. มีขน หรือ ขนอาจจะหลุดร่วงไปเมื่อแก่
ดอก -> มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้ง ออกเป็นช่อตามง่ามใบ แต่ละช่อมีดอกจำนวนน้อย เป็นดอกแยกเพศ  ดอกเพศผู้ ช่อยาว 1.5-3 ซม. ก้านดอกเล็ก ยาว 0.5-1 ซม. กลีบดอก 4(-5) กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ 7 มม. สีออกเขียว มีขนทั้งสองด้าน ขอบกลีบมีขนหนาแน่น ฐานดอกมีเนื้อ ขอบเรียบหรือจักเล็กน้อย สีขาว หรือ เหลือง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ถ้าเกสรเกลี้ยง ดอกเพศเมีย ช่อยาว 1-1.5 ซม. กลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่รูปคนโฑ ภายในมี 4-6 ช่อง มีไข่ช่องละ 2 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียมีเท่ากับจำนวนช่อง แต่ละก้านปลายแยกเป็นสองแฉกและม้วน
ผล -> ค่อนข้ากลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม. มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล สีแดงอมน้ำตาลอ่อน หรือ ม่วง เมื่อแก่เป็นสีดำ เนื้อสีเหลืองอมเขียว มีเมล็ด 4-5 เมล็ด


นิเวศน์วิทยา

สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย มีปลูกตามสวนทั่วไป


สรรพคุณ

ราก -> เปลือกรากตำพอกแผล และผิวหนังอักเสบ
ต้น -> น้ำต้มเปลือกกินเป็นยาแก้อาการผิดปกติของท่อน้ำดี บำรุงธาตุ และบำรุงร่างกาย
ใบ -> น้ำต้มใบเป็นยาฝาดสมานแก้ท้องเสีย ขับเหงื่อ ขับระดูและให้สตรีกินหลังการคลอดบุตร นอกจากนี้ให้สีเขียวขี้ม้า ใช้ย้อมผ้าไหมได้ดี
ผล -> กินแก้อาการผิดปกติของท่อน้ำดี แต่ถ้ากินมาก ๆ อาจทำให้แท้งบุตรได้เช่นเดียวกับน้ำต้มใบ

 

รูปภาพจาก:flickr.com,bloggang.com,สมุนไพร