สมุนไพรแตงหนู

สมุนไพรแตงหนู

แตงหนู Mukia maderaspatana Roem.
ชื่อพ้อง Melothria maderaspatana (Linn.) Cogn.
บางถิ่นเรียก แตงหนู (เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ) แตงนก (กาญจนบุรี) แตงผีปลูก (ชัยนาท) แตงหนูขน (ประจวบคีรีขันธ์).

ไม้เถา ลำต้นเป็นเหลี่ยม มือเกาะไม่แยกแขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปไข่ป้อม 3-5 เหลี่ยม หรือ 3-5 แฉก กว้าง 3-7 ซม. ยาว 4-8 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีขนหนาแน่นทั้งด้านบน และด้านล่าง ก้านใบยาว 1-5 ซม. ดอก เล็ก สีเหลือง ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย อยู่บนต้นเดียวกัน และมักจะออกที่ง่ามใบเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกยาว 1-1.5 มม. ปลายแหลม มีขน; กลีบดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ รูปไข่แกมขอบขนา ยาวประมาณ 2 มม. เกสรผู้ 3 อัน อับเรณูตรงหรือโค้งเล็กน้อย ไม่ติดกัน. ดอกเพศเมีย ออกเดี่ยว ๆ ไม่ค่อยพบที่เป็นกระจุก กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มีขน. ผล กลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-12 มม. มีเนื้อ แก่จัดสีแดงสด ก้านผลสั้นมาก. เมล็ด รูปไข่ แบน ผิวหยาบ.

นิเวศน์วิทยา : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และท้องไร่ ท้องนาทั่ว ๆ ไป.

สรรพคุณ : ราก ตำเป็นยาพอกเหงือก แก้ปวดฟัน น้ำต้มราก เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และถ้าต้มรวมกับดอก กินเป็นยาถอนพิษบางอย่าง แก้ปวดฟัน และปวดท้อง ต้น ยอด และใบอ่อนกินได้ แก้ตับอักเสบ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท่อน้ำดีอักเสบ หลอดลมอักเสบและหืดหอบ เมล็ด น้ำต้มเมล็ด กินเป็นยาขับเหงื่อ ใช้น้ำมันใช้ทาถูนวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย

 

รูปภาพจาก:dnp.go.th,12c8bfcwqkgn5c5a9ktgc9a.blogspot.com,สมุนไพร