ข้าวโพด

ข้าวโพด

ข้าวโพด Zea mays L.
บางถิ่นเรียกว่า
 ข้าวโพด (ภาคกลาง) ข้าวแข่ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ข้าวสาลี สาลี (ภาคเหนือ) บือเคส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) โพด (ภาคใต้)

ไม้ล้มลุก -> จำพวกหญ้า อายุปีเดียว สูง 0.6-3 ม. ที่โคนมักมีรากค้ำยัน
ใบ -> รูปแถบกว้าง 3-12 ซม. ยาว 35-100 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลม ขอบใบมันสาก และเป็นคลื่น กาบใบหยาบ มีขนนุ่ม ขอบเรียบหรือมีขนยาว ลิ้นใบยาว 4-6 มม.
ดอก -> ออกเป็นช่อแยกเพศ ช่อดอกเพศผู้ อยู่ที่ปลายมีช่อดอกออกทุกด้านของแกนกลาง ช่อดอกที่ปลายยาว 20-40 ซม. ช่อดอกตามด้านข้าง ยาว 12-30 ซม. แกนกลางเป็นสัน มีขนเล็กน้อย ช่อดอกย่อยยาว 8-13 มม. รูปขอบขนาน ปลายแหลม มักมีแต้มสีม่วง กาบช่อดอกอันล่างบาง มีขน ขอบใบมีขนยาว มีเส้นตามยาว 7-13 เส้น กาบบนคล้ายกัน มี เส้น 6-8 เส้น กาบดอกที่ 1 สั้นกว่าเล็กน้อย มี 3 เส้น กาบบนยาวเท่ากัน มี 2 เส้น อับเรณูยาว 4.5-5.5 มม. สีม่วงหรือเหลือง กาบดอกที่ 2 สั้นกว่ากาบดอกที่ 1 มี 1 เส้น กาบบนใหญ่กว่า ไม่มีสัน เกสรเพศผู้คล้ายดอกที่ 1 ช่อดอกเพศเมีย ออกตามง่ามใบ โดยมีแกนกลางแข็ง มักออกเดี่ยว ๆ บางครั้งก็ไม่พบช่อดอกเพศเมียในต้นที่อ่อนแอ แต่ละช่อดอกจะมีกาบ 8-13 กาบหุ้มอยู่ ช่อดอกย่อยมี 8-30 แถว กาบช่อดอกย่อยอันล่างยาว 3.5-6 มม. รูปไข่กลับ โคนสอบแคบ ปลายตัด มีขนที่ขอบ อันบนรูปรียาว 3-5.5 มม. กาบดอกที่ 1 ใส ไม่มีเส้น กาบบนปลายเว้าเป็นแอ่ง โคนสอบแคบ ไม่มีเส้น กาบดอกที่ 2 ใส ไม่มีเส้น กาบบนโค้งนูนคลุมรังไข่ ก้านเกสรเพศเมียที่เรียกว่าฝอยข้าวโพด ยาว 20-30 ซม. สีม่วง เขียว หรือขาว ปลายม่วง แตกเป็นสองแฉกสั้น ๆ
ผล -> ที่รักเรียกว่าเมล็ดข้าวโพด ติดบนแกน (ซังข้าวโพด) มีใบเป็นกาบหุ้ม ผล รูปไข่กลับหรือรูปไข่ ปลายแหลม มน หรือตัด โคนแหลม หรือมน มักแบน สีเหลืองอ่อน เหลืองทอง แดงอมส้ม หรือสีม่วง


นิเวศน์วิทยา

มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน นิยมปลูกเป็นพืชไร่ทั่วไป


สรรพคุณ

ผล -> ใช้ทำแป้งข้าวโพดเมื่อเปียกจะเป็นอาหารที่ดีสำหรับคนฟื้นไข้ เนื่องจากเป็นแป้งที่ย่อยง่าย ฝอยข้าวโพดเป็นยาขับปัสสาวะ และทำให้เยื่อบุภายในชุ่มชื้น เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง ใช้แก้ขัดเบาในผู้ที่เป็นโรคหนองใน น้ำมันใช้ประกอบอาหาร เป็นตัวทำละลายของ ergosterol

 

รูปภาพจาก:ที่สุดในโลก.com,thairoyalprojecttour.com