เขาสัตว์อื่นที่ใช้แทนเขากุยได้

เขาสัตว์อื่นที่ใช้แทนเขากุยได้

เขาชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเขากุย

ตำราว่าใช้แทนกันได้ ได้แก่
๑.กาเซลคอพอก
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gazella gutturosa Pallas
มีชื่อสามัญว่า goitred  gazelle
พบในเอเชียกลาง จากทิศใต้ของทะเลสาบแคสเปียนถึงภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยเฉพาะภาคเหนือของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่ต่อเนื่องไปจนถึงเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน สัตว์ชนิดนี้ตัวผู้มีต่อมใหญ่ขึ้นที่คอหอยคล้ายกับเป็นโรคคอพอก ซึ่งเห็นได้ชัดในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้มีเขายาว ลู่ช้อนไปข้างหลัง ปลายงอนขึ้น ยาวราว  ๒๕  เซนติเมตร


๒.ชิ รูหรือ แอนติโลปทิเบต
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pantholops  hodgsoni  Abel
มีชื่อสามัญว่า  chiru   หรือ  Tibetan   antelope
พบในทุ่งหญ้าเนินสูงของเขตปกครองตนเองทิเบต สูงที่ไหล่ยาว ๑  เมตร  หนัก  ๒๕-๓๕ กิโลกรัม มีเขายาวมาก ชอบย้ายถิ่น ในฤดูผสมพันธุ์มีฝูงตัวเมียถึง ๒๐  ตัว โดยที่ตัวผู้คุมฝูงอยู่เพียงตัวเดียว สัตว์ชนิดนี้ชอบใช้กลีบขุดหลุม   นอนลึกๆเพื่อหลบลมหนาว


๓.กาเซลทิเบต 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Procapra  picticaudata Hodgson
มีชื่อสามัญว่า Tibetan   gazelle
สัตว์ชนิดนี้มีลักษณะของกาเซลหลายประการ  คือ  มีขนหางสั้น ไม่มีต่อมหัวตา ไม่มีพู่ขนบนเขา มีเขาเฉพาะตัวผู้ ตัวเมียไม่มีลายที่หน้า ปลายเขาไม่โค้งเป็นตะขอ   และตรงปลายก้นมีแถบขาว   สัตว์ชนิดนี้สูงที่ไหล่ราว   ๖๐-๖๕ เซนติเมตร หนักราว ๒๐ กิโลกรัม ข้างตัวสีน้ำตาลจาง และจางเป็นสีเทาในฤดูร้อน  พบตามภูเขาสูงในที่ราบสูงทิเบต


๔.กวางผา 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Nemorhaedus  goral  Hardwicke
มีชื่อสามัญว่า common  goral  หรือ Himalayan  goral
พบในประเทศไทย ตามภูเขาที่สูงชันทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง เคยพบที่ดอยม่อนจอง จังหวัดเชียงใหม่ และภาคตะวันตกของประเทศพม่าต่อกับบังกลาเทศ ตลอดไปตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ถึงบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรีย กวางผามีขนาดเล็กกว่าเลียงผา สีตามตัวเป็นสีเทาแกมน้ำตาลอ่อนๆ แกมสีฟ้าจางๆ ที่ใต้คอมีสีขาว ที่สันคอไม่มีขนแผง แต่มีเส้นสีน้ำตาลเข้มจากสันคอไปบนสันหลังจนถึงหาง กวางผาแตกต่างจากเลียงผาตรงที่กวางผาไม่มีรูต่อมที่อยู่ระหว่างตากับจมูกขาแหลมโค้งไปด้านหลังคล้ายเลียงผา แต่เล็กกว่า มีคอดที่โคนเขาราวครึ่งหนึ่งของความยาวเขา กวางผาเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นฝูงราว  ๕-๖  ตัว เดินหากินตามทุ่งหญ้าในตอนเช้าและตอนเย็น บางครั้งก็นอนเล่นบนโขดหิน พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ให้ยาที่เข้า  “เขากุย”  ไว้  ๒ ขนาน ขนานหนึ่งคือ “ยาจิตรมหาวงษ์” ซึ่งมีบันทึกไว้ ดังนี้ ยาชื่อจิตรมหาวงษ์  แก้คอเปื่อยลิ้นเปื่อยแลปากเปื่อยแลแก้ไอ ท่านให้เอา รากมะกล่ำต้น ๑  รากมะกล่ำเครือ ๑  รากมะขามป้อมเนระพูสี ๑  เขากวาง ๑  เขากุย  ๑  นอแรด  ๑  งาช้าง  ๑ จันทร์ทั้งสองนี้ น้ำประสานทองสะตุ  ๑ ยาทั้งนี้เอาส่วนเท่ากัน ตำผงบดทำแท่งไว้ ละลานน้ำผึ้งทา หายแล
พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาหลายขนานที่เข้า “เขากุย” ขนานหนึ่งเป็นยาแก้ซางแห้ง ซึ่งมีบันทึกไว้  ดังนี้ ยาแก้ทรางแห้ง คือทรางโจรทรางเพลิง ถ้าขึ้นตาเป็นเกล็ดกระดี่  แล้วให้เป็นยอดขึ้นพรึงไปทั้งตัวดังผด  เอาหอมแดง  ๑  รากนมแมว  ๑  รากเข็มเหลือง  ๑  พรมมิ  ๑  กระทือ  ๑  ไพล  ๑  กระเทียม  ๑  ว่านเปราะ  ๑  รากถั่วภู  ๑  เขากวาง  ๑   นอแรด  ๑  เขากุย ๑  เขี้ยวเสือ  ๑  เขี้ยวจระเข้  ๑   เขี้ยวหมี  ๑   เขี้ยวหมู  ๑  เขี้ยวแรด  ๑   โกศทั้ง  ๕   เทียนทั้ง  ๕   การะบูร  ๑  น้ำประสานทอง  ๑  รวมยา  ๒๘  สิ่งนี้   เอาเสมอภาค  ทำเปณจุณ เอาน้ำดอกไม้เป็นกระสาย  บดทำแท่ง ละลานน้ำแตงกวากิน แก้ในตาต้อทั้ง  ๔  แลต้อสำหรับทรางกุมารทั้งปวง

  

รูปภาพจาก:play.kapook.com,earsaireasy.com