สมุนไพรกำลังกระบือ

สมุนไพรกำลังกระบือ

ชื่อพื้นเมืองอื่น  กระบือเจ็ดหัว  กำลังกระบือ  ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง) กะบือ (ราชบุรี) ใบท้องแดง (จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Excoecaria cochinchinensis Lour.  var.  cochinchinensis                                                                                                                                          
ชื่อพ้อง Excoecaria bicolor (Hassk) Zollex Hassk.

ชื่อวงศ์  EUPHORBIACEAE
ชื่อสามัญ Kamlang kra bue.

 

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม (ExS) -> สูงประมาณ 70-150 ซม. ทุกส่วนมียางขาวเหมือนน้ำนม กิ่งเรียวเล็ก เปลือกสีแดงอมม่วง
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันหรือเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือขอบขนานแกมไข่กลับ โคนใบแหลม ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบหยักห่างๆ เส้นใบ 12-13 คู่ ใบอ่อนสีแดงผิวเป็นมัน ใบแก่ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีแดงอมม่วง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. หูใบเป็นรูปหอกปลายแหลม
ดอก -> ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและที่่ยอด มีทั้งดอกเพศผู้ เพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ อาจจะอยู่บนต้นเดียวกันหรือต่างกันก็ได้ ดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศช่อยาวประมาณ 2 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ รูปยาวแคบ ปลายแหลม ดอกเพศเมีย กลม มักจะออกทีละ 3 ดอก ใบประดับเหมือนดอกเพศผู้ ก้านดอกสั้นมาก กลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม ขอบหยักเล็กน้อย ดอกมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเล็กออกดอกตลอดปี          
ผล -> (เป็นชนิดแก่แล้วแห้ง รู)ร่างค่อนข้างกลม ไม่มีเนื้อ มี 3 พู เมื่อแก่แตกเป็น 3 ส่วน

 

นิเวศวิทยา

เป็นไม้ในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีน นิยมปลูกทั่วไปเป็นไม้ประดับ

 

การปลูกและขยายพันธุ์

สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทั่วๆไป ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง หรือ การตอนกิ่ง

 

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคุณ

ลำต้น -> รสร้อนเฝื่อน ยางจากลำาต้นเป็นพิษมาก ใช้ในการเบื่อปลา
ใบ  -> รสร้อนเฝื่อนขื่น รักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบโลหิตบางชนิด ชาวชวาใช้ใบโขลกเป็นยาพอกห้ามเลือด ตำรายาแพทย์แผนไทยนำใบโขลกผสมกับสุรากลั่นคั้นเอาน้ำดื่มแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ยาขับเลือดเสียและขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก

 

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

1. ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ขับเลือดเน่า ขับประจำเดือน โดยใช้ใบสด 10-15 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด โขลกให้ละเอียด ผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย คั้นเอาน้ำค่อยๆจิบ เช้า-เย็น

 

ข้อควรทราบ

  • ไม่ควรใช้ในสตรีที่มีครรภ์ เพราะถ้าใช้ในบริมาณที่มาก อาจจะทำให้แท้งได้

  • ใบสดต้นกระบือเจ็ดตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ได้อีกด้วย เพราะมีสีแดงสดใส

 

รูปภาพจาก:karsetindy.com,kuiherb/kui-herb-web,สมุนไพร