วัว

วัว

คำ “วัว” เป็นคำที่แผลงมาจากคำไทยว่า “งัว” ส่วนคำ “โค” เป็นคำเรียกสัตว์ชนิดนี้ในภาษาบาลี (คำ“โค” นี้อาจหมายถึงดวงอาทิตย์  เช่นในคำ“โคจร” ซึ่งแปลว่า ทางเดินของดวงอาทิตย์ )

 

ชีววิทยาของวัว

วัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง กินหญ้า มี ๔ เท้า และกีบเป็นคู่ เขากลวง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos  Taurus (Linnaeus) จัดอยู่ในวงศ์ Bovidae
วัวบ้านมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  bos  Taurus  domesticus  Gmelin  วัวบ้านของไทยมีวิวัฒนาการมาจากวัวป่าหรือวัวออรอกส์  (Aurochs)  ซึ่งปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว วัวป่าที่ยังคงพบในบ้านเราคือวัวแดง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos  javanicus  (D’Alton)  เข้าใจว่าวัวแดงนี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากวัวออรอกส์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ต่อมาวัวแดงนี้จึงสืบเชื้อสายมาเป็นวัวบ้านของประเทศไทย ทำให้รูปร่างและสีสันของวัวบ้านเหมือนวัวแดงมาก แต่รูปร่างใหญ่กว่าและสูงกว่า วัวแดงมีความสูงที่ไหล่ราว ๑.๗๐ เมตร หรือกว่านั้น มีเขายาวราว ๗๐ เซนติเมตร วัวแดงมีสีน้ำตาลแกมแดงเหมือนวัวบ้าน ตัวผู้เมื่อมีอายุมากๆสีอาจเปลี่ยนไป วัวแดงเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นฝูง ฝูงหนึ่งมีราว ๒๐-๓๕ ตัว มักมีตัวเมียแก่ๆเป็นผู้นำฝูง แต่ละฝูงมักมีตัวผู้เพียงตัวเดียว คอยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เมื่อตัวเมียเป็นสัด

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้น้ำนมวัว (น้ำนมโค) ขี้วัว (มูลโค) และน้ำมูตรวัว (น้ำมูตรโค) น้ำมันไขข้อโค เป็นยา

๑. น้ำนมวัว ได้จากเต้านมของวัวเพศเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า น้ำนมโคหรือน้ำนมวัวมีรสหวาน มัน เย็น มีสรรพคุณปิดธาตุ แก้โรคในอก บำรุงกำลังและเลือดเนื้อ เจริญไฟธาตุ แพทย์แผนไทยมักใช้นมวัวเป็นน้ำกระสายยา ตัวอย่างเช่น “ยาแก้ลมโกฏฐาสยาวาตา” ใน พระคัมภีร์โรคนิทาน ใช้ “น้ำนมโค” เป็นน้ำกระสายยา ดังนี้ลมโกฏฐาสยาวาตาแตกนั้น มักให้เหม็นคาวคอ ให้อาเจียน ให้จุกเสียด ให้แดกในอกถ้าจะแก้ ให้เอาใบสลอดต้มกับเกลือให้สุกแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ๑   ชะเอมเทศ ๑  รากเจตมูลเพลิง ๑  รากตองแตก ๑  รากจิงจ้อใหญ่ ๑  ลำพัน ๑  พริกล่อน ๑  ดีปลี ๑  ใบหนาด ๑  การะบูร ๑  เอาเสมอภาค ทำเปนจุณ ละลาย น้ำนมโค ก็ได้ น้ำผึ้งก็ได้ น้ำร้อนก็ได้ กินหายแล

๒. ขี้วัว ตำรายามักเรียก น้ำมูลโค แพทย์แผนไทยใช้ขี้วัวปรุงเป็นยาบำบัดโรคทั้งภายในและภายนอกหลายขนาน โดยมากใช้ขี้วัวดำ ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า ขี้วัวดำมีรสขม เย็น มีสรรพคุณดับพิษร้อน พิษไข้ พิษกาฬ ลางตำราว่าขี้วัวสดและแห้งผสมกับใบน้ำเต้าสดและสุรา ตำคั้นเอาน้ำ ทาแก้เริม ไฟลามทุ่ง งูสวัด ลมพิษ และแก้พุพอง ฟกบวม ถอนพิษ

๓. น้ำมูตรวัว ตำรายามักเรียกว่า น้ำมูตรโค  และมักใช้น้ำมูตรโคดำเป็นน้ำกระสายยา ตัวอย่างเช่น ยาสตรีขนานหนึ่งใน พระคัมภีร์มหาโชตรัต ใช้ “มูตรโคดำ” เป็นกระสาย   ดังนี้ ถ้าหญิงโลหิตตกทางทวารหนักทวารเบา มิออกสะดวก ให้เอาขมิ้นอ้อยไพลผลผักชีล้อม ๑ บดละลายด้วย มูตรโคดำ กินหายแล
๔. น้ำมันไขข้อโค   พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ให้ยาน้ำมันทาแก้ไส้ด้วนไส้ลามและแผลฝีเน่าเปื่อยขนานหนึ่ง เข้า “น้ำมันไขข้อโค”   เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้
ถ้ามิฟัง พิษนั้นกล้านักมักเผาเอาเนื้อนั้นสุก เหน้าเข้าไปแต่ปลายองคชาตทุกวันๆก็ดี   ท่านให้หุงน้ำมันนี้ใส่   ดับพิษทั้งรักษาเนื้อไว้   มิให้เหน้าเข้าไปได้ ท่านให้เอามะพร้าวงอกบนต้นเขี้ยวน้ำมันให้ได้ถ้วย ๑  จึงเอาใบกระเม็งใบยาสูบสดๆ ๑  เปลือกโพกพาย ๑  เปลือกจิก ๑  เปลือกกรด ๑  เบญจลำโพง ๑  ใบเทียน ๑  ใบทับทิม ๑   ใบขมิ้นอ้อยใบเลี่ยน ๑  ยาทั้งนี้เอาสิ่งละถ้วย ใส่ลงกับน้ำมันมะพร้าวหุงให้คงแต่น้ำมัน แล้วเอาน้ำมันแมวดำชาตรีจอก ๑ น้ำมันฟอกไก่จอก ๑   น้ำมันไขข้อโคจอก  ๑   ปรุงใส่ลงเถิดวิเศษนัก  น้ำมันนี้ท่านตีค่าไว้ตำลึงทองหนึ่งใช้ได้ทุกประการ แลตานทรางสรรพพิษฝีเปื่อยเหน้า   ทั้งแก้มิให้เป็นด่างเป็นแผลให้คงคืนดีคนเก่า แลแก้ไส้ด้วนไส้ลาม  ดังกล่าวมาแต่หนหลังหายสิ้นอย่าสนเท่ห์เลย  ได้ทำมามากแล้ว  ตำรานี้ฝรั่งเอามาแต่เมืองยักกัตราแล

 

รูปภาพจาก:pixabay.com,betagrofeed.com