มะพลับ

มะพลับ

มะพลับ Diospyros areolata King & Gamble มะพลับ พลับ (กลาง)

ไม้ต้น -> ขนาดกลาง สูงถึง 15 ม. ลำต้นมักคดงอ เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลปนเขียวอ่อน หรือ ปนดำ.
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว7-20 ซม. โคนใบโค้งมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวทู่ เนื้อใบหนา เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน หรือ มีขนบ้างประปราย ตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมี 6-12 คู่ แต่ละเส้นคดงอไปมา และพอมองเห็นทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. มีขนประปราย.
ดอก -> ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนแน่น กลีบรองกลีบดอก มี 4-(5) กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ยาวประมาณ 3 มม. กลีบดอกมี 4-(5) กลีบ ยาวทั้งสิ้นประมาณ 7 มม. โคนกลีบติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ปลายแยกออกเป็นแฉกสั้น ๆ ตามแฉกเหล่านั้นจะมีขนนุ่มทางด้านนอก และค่อนข้างเกลี้ยงทางด้านใน ส่วนที่เป็นหลอดเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เกสรผู้มี 20-21 อัน ก้านอับเรณูเกลี้ยง ยาว 2.5-3.5 มม. อับเรณูมีขนประปรายตามแนวกึ่งกลางตามยาว รังไข่ฝ่อมีขนยาว ๆ. ดอกเพศเมีย มักจะออกเดี่ยว ๆ ตามกิ่งเล็ก ๆ ก้านดอกยาว 5-10 มม. มีขนคลุมแน่น ภายในแบ่งเป็น 8 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1 หน่วย หลอดท่อรังไข่มี 2 หลอด เกลี้ยง ๆ แต่ละหลอดปลายแยกเป็น 2 แฉก เกสรผู้ฝ่อมีประมาณ 20 อัน เกลี้ยง.
ผล -> กลม หรือ ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ผลแก่ค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้หลุดง่าย กลีบจุกผลแต่ละกลีบเกือบไม่ติดกัน เกลี้ยง หรือ อาจมีขนบ้างทั้งสองด้าน กลีบส่วนมากจะพับกลับ มีบ้างที่แผ่กางออก ขอบกลีบมักเป็นคลื่น ไม่มีเส้นลายกลีบ พื้นกลีบจีบพับ ก้านผลยาวประมาณ 1 ซม.


นิเวศน์วิทยา

พบขึ้นตามป่าดิบ และตามชายป่าเลน เหนือระดับน้ำทะเล 2-300 ม. ทางภาคใต้.


สรรพคุณ

เปลือก -> น้ำต้มเปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด และสมานบาดแผล กินแก้ท้องร่วง แก้บิด ย่างให้เหลืองกรอบแล้วต้ม ใช้ดื่มเป็นยากระตุ้น

มะพลับ

รูปภาพจาก:blogspot.com,nanagarden.com,สมุนไพร