อีแอ่น

อีแอ่น

อีแอ่นเป็นชื่อไทยแท้ของนก ๒ วงศ์

(ปัจจุบันคนไทยเห็นว่าชื่อ “อีแอ่น” ไม่สุภาพหรือไม่เพราะ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ“นางแอ่น” หรือ“นกแอ่น” เช่นเดียวกับ“อีกา” เป็น  “นกกา” หรือ “อีแร้ง” เป็น “นกแร้ง”) คือ วงศ์ Apodidae (อันดับ  Apodiformes) กับวงศ์ Hirundinidae (อันดับ Passeriformes)

อีแอ่นกินรังเป็นนกในวงศ์ Apodidae ส่วนนกในวงศ์ Hirundinidae หลายชนิดเรียก “อีแอ่น” เช่นกัน แต่นกที่จัดอยู่ในวงศ์หลังนี้ทำรังด้วยดิน ไม่มีน้ำลายเป็นตัวเชื่อมอยู่อย่างใด รวมทั้งนกตาพอง (Pseudochelidon  sirintarae  Thonglongya) ที่มีผู้ตั้งชื่อให้ใหม่เป็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร อันเป็นนกถิ่นเดียวของไทย พบที่บึงบอระเพ็ด   จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันเป็นนกหายากและมีจำนวนน้อยหรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้

อีแอ่นหิมาลัย   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocalia  brevirostris  (Horsfield) มีชื่อสามัญว่า Himalayan  swiftlet ชนิดนี้ทำรังด้วยหญ้าและพืชชนิดต่างๆ มีน้ำลายเป็นตัวเชื่อมเพียงเล็กน้อย อีแอ่น ๒ ชนิดแรก คือ อีแอ่นกินรังกับอีแอ่นกินรังตะโพกขาว ทำรังด้วยน้ำลายล้วนๆ จึงเป็นรังนกที่มีคุณภาพดีเยี่ยม เป็นที่รู้จักกันมานานและเป็นที่ต้องการของตลาด มีราคาแพงมาก ส่วนรังของอีแอ่นชนิดอื่นในสกุลเดียวกันนี้ไม่เป็นที่นิยมของตลาด โดยเฉพาะ ๒ ชนิดหลัง  คือ  อีแอ่นท้องขาวและอีแอ่นหิมาลัย

อีแอ่นกินรังเป็นนกที่อาศัยอยู่ในถ้ำหินปูนหรือถ้ำหินทรายตามเกาะต่างๆ ตามทะเลหรือตามชายฝั่งต่างๆ หรืออาจพักพิงอยู่ตามสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น ตึก โบสถ์ และบินออกจากถิ่นในช่วงเช้ามืด ไปหากินตามแหล่งน้ำในหุบเขาหรือตามป่า โดยบินไม่หยุดตลอดทั้งวัน ห่อนกลับมายังถิ่นที่อยู่ในตอนเย็นหรือค่ำ นกพวกนี้สามารถบินโดยใช้เสียงสะท้อนกลับ (echolocation) จึงไม่ชนกับสิ่งกีดขวางใดๆ ทั้งๆที่ถิ่นที่อยู่มืดสนิท ราวร้อยละ ๘๐ ของอาหารเป็นแมลง โดยเฉพาะมดมีปีก ในช่วงฤดูฝนนั้น อาหารของนกพวกนี้เป็นนกเกือบทั้งหมด อีแอ่นกินรังที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชข้อมูลต่อไปนี้เป็นผลงานของการวิจัยของรองศาสตราจารย์โอภาส  ขอบเขตต์   ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนก ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุมราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๔   ในหัวข้อเรื่อง “อีแอ่นกินรังในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช” ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมเพียง  ๕  เดือนเศษ

อีแอ่นกินรังในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชนิด Colocalia  fuciphaga  (Gmelin) หรือ eible – nest swiftlet ในราว ๕๐ ปีที่ผ่านมา อีแอ่นกินรังได้เข้ามาอาศัยและทำรังในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียก “บ้านร้อยปี” โดยเริ่มเข้ามาพักพิงที่ชั้น  ๓  อันเป็นชั้นบนสุด เจ้าของบ้านจึงย้ายมาอยู่ที่ชั้น ๒ ต่อมาจำนวนนกมีจำนวนมากจนรุกพื้นที่ชั้น ๒ เจ้าของบ้านจึงย้ายมาอยู่ที่ชั้น ๑ ซึ่งเป็นร้านค้า แต่ปัจจุบันบ้านหลังนี้มีนกอยู่เต็มทั้ง  ๓  ชั้น โดยเจ้าของบ้านปิดกิจการและย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่กลับมาเก็บรังนกทุกเดือน  โดยเฉลี่ยได้รังนกราวเดือนละ  ๖  กิโลกรัม (มูลค่ากิโลกรัมละ  ๕๐๐๐๐-๗๐๐๐๐ บาท) ในช่วงนั้นอีแอ่นกินรังไปอาศัยอยู่บริเวณโบสถ์ของวัดซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยที่เดิมที่ทางวัดมิได้เก็บรัง แต่ปัจจุบันคณะกรรมการวัดก็เก็บรังนกขายเช่นเดียวกับบ้านร้อยปี  โดยได้รังนกเฉลี่ยราวเดือนละ  ๒  กิโลกรัม

ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา อีแอ่นกินรังบริเวณตลาดอำเภอปากพนังได้เพิ่มจำนวนขึ้น  จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในตึกสูงๆหลายตึกทางฝั่งด้านตะวันออก(ฝั่งบ้านร้อยปี) ส่วนฝั่งด้านตะวันตก(ฝั่งวัด) ก็มีบ้าง แต่น้อยกว่ามาก ปัจจุบันมีการก่อสร้างตึกสูง๑๐ชั้น  มากกว่า ๑๐ ตึก  แต่ละตึกใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า  ๕  ล้านบาท  โดยหวังให้อีแอ่นเข้าไปอาศัยทำรัง   รวมแล้วมีตึกที่สร้างขึ้น  โดยหวังว่าอีแอ่นกินรังจะเข้าไปทำรังไม่น้อยกว่า  ๕๐   ตึก แต่อีแอ่นก็ไม่ได้เข้าไปอาศัยทำรังทุกตึก

ทำไมอีแอ่นจึงเลือกตึกใดตึกหนึ่งเพื่อทำรัง  คำตอบนี้ยังมิหาคำตอบได้แต่จากการศึกษาพบว่า อีแอ่นจะเข้าไปทำรังในตึกสูงตั้งแต่  ๑-๗  ชั้น อาคารส่วนใหญ่มักมีสีเหลืองไข่ไก่  แต่ลางอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จแล้ว  ยังเป็นสีอิฐ  ก็มีนกเข้าไปอาศัยและทำรัง ส่วนทิศทางการเข้าออกของอีแอ่นนั้น พบว่ามีเกือบทุกทิศทาง ไม่แน่นอน แต่ทางเข้าออกของนกโดยส่วนมากเป็นทิศใต้ค่อนไปทางทิศตะวันตก

อย่างไรก็ตาม   อุณหภูมิและความชื้นภายใต้อาคารน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่นกเลือกอาศัยและทำรัง พบว่าอาคารที่นกอาศัยจะอยู่ระหว่าง  ๒๖-  ๒๙  องศาเซลเซียส   และความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ  ๗๕   (อยู่ร้อยละ  ๗๙-๘๐  ) ผนังอาคารต้องไม่น้อยกว่า  ๓๐  เซนติเมตร ภายในมีอ่างน้ำโดยรอบหรือเกือบรอบ ไม่มีหน้าต่าง   แต่มีช่องลมให้นกเข้าออกอย่างน้อย  ๒  ช่อง ซึ่งอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอาคารเหล่านี้ใกล้เคียงกับถ้ำธรรมชาติที่นกชนิดนี้ใช้เป็นที่อาศัยและทำรัง ในการเก็บรังนกนั้น เจ้าของบ้านเก็บก่อนที่นกจะวางไข่   คือราว  ๓๐  วัน   หลังจากนกเริ่มทำรัง  และเก็บทุกๆเดือน แต่ถ้าเป็นรังที่นกวางไข่แล้ว  ก็จะปล่อยให้นกวางไข่ต่อไปจนครบ  ๒  ฟอง แล้วปล่อยให้ไข่ฟัก  และเลี้ยงลูกอ่อนจนลูกบินได้จึงจะเก็บรัง

 

รูปภาพจาก:oknation.nationtv.tv,thathong.com,