สมุนไพรป๋วยเล้ง

สมุนไพรป๋วยเล้ง

ป๋วยเล้ง Spinacia oleracea Linn.
บางถิ่นเรียก ป๋วยเล้ง (เชียงใหม่) ยอ (กรุงเทพฯ).

พืชล้มลุก อายุหนึ่งปี, สูง 30-45 ซม. ตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ลำต้นเป็นสันเกลี้ยง. ใบ เขียวสด นุ่ม เรียงเวียนสลับกัน ใบล่างสุดและตอนกลาง รูปสามเหลี่ยมเป็นหัวลูกศร หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ปลายมน หรือ แหลม ขอบใบเรียบ หรือ จักเป็นซี่ฟัน ก้านใบค่อนข้างยาว ใบบน ๆ รูปขอบขนาน, ขนาดเล็ก.ดอก แบ่งเป็นต้นผู้และต้นเมีย ช่อดอกต้นผู้ยาว 1-10 ซม. อยู่รวมกันที่ปลายยอด กลีบดอกส่วนมากถึง 4 กลีบ ยาวประมาณ 2 มม. เชื่อมติดกันที่ใกล้ๆ โคน ปลายแยกออกเป็นรูปรีกว้าง ปลายมน เกสรผู้มีเท่ากับจำนวนกลีบดอก ติดที่โคนของกลีบ ต้นเมียช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ กลีบดอกเป็นรูปปิรามิด หรือ กลม จักเป็นซี่ฟันเล็กๆ ซึ่งซี่ฟัน 2 ซี่ หรือ มากกว่านี้อาจเปลี่ยนเป็นหนาม ท่อเกสรเมียมี 4 เล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย ผล แห้งแก่ไม่แตก ผนังบาง มีกลีบดอกห่อหุ้มไว้.

นิเวศน์วิทยา : เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันตกและเปอร์เซีย มักนิยมปลูกเป็นผักรับประทาน.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาเย็น ขับลมในลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ระบาย ขับน้ำย่อย แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ. ใบ น้ำคั้นเป็นยาขับปัสสาวะ อมกลั้วคอแก้คอเจ็บ, ตำเป็นยาพอกฝี แก้ไข้ ปอดอักเสบ. เมล็ด แก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ตับอักเสบ และโรคดีซ่าน

 

รูปภาพจาก:prachachat.net,gida.ibb.istanbul,สมุนไพร