สมุนไพรฟักทอง

สมุนไพรฟักทอง

ฟักทอง Cucurbita moschata Decne.
บางถิ่นเรียก ฟักทอง (กลาง) น้ำเต้า (ใต้) ฟักเขียว มะฟักแก้ว (เหนือ) มะน้ำแก้ว (แพร่) หมักอึ (เลย) หมักคี้ส่า เหลืองเคส่า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) หมักอื้อ (เลย ปราจีนบุรี) หมากฟักเหลือง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน).

ไม้เถา มีขนนุ่ม ลำต้นแข็งปานกลาง กลม หรือ เหลี่ยมมน ๆ 5 เหลี่ยม มือเกาะมี 3-4 แขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน กว้าง และยาว 20-30 ซม. ขอบใบหยักเล็ก ๆ เว้าเป็นแฉกตื้น ๆ หรือ เป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม ปลายใบมน มีขนทั้งสองด้าน บางครั้ง อาจมีด่างขาวเป็นดวง ๆ ก้านใบยาว 12-30 ซม. แผ่นใบรูปกลม หรือ รูปไต โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจกว้าง ๆ. ดอก ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ดอกตูมปลายแหลม ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียเกิดบนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว กลีบรองกลีบดอก เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มักจะมีลักษณะแบน คล้ายใบ ยาวถึง 5 ซม. กลีบดอกสีเหลือง หรือเหลืองอมส้ม ยาว 10-12 ซม. เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง เช่นเดียวกับกลีบรองกลีบดอก ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวของกลีบ เกสรผู้ 3 อัน ติดกันเป็นแท่ง ยาวประมาณ 4 ซม. ดอกเพศเมีย ก้านดอกสั้น กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่ภายในมี 1 ช่อง ท่อรังไข่สั้น ปลายท่อแยกเป็น 3 แฉกใหญ่ ยาว 2 ซม. สีส้มสด หรือ เขียว. ผล ก้านเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม แข็ง ผลมีรูปร่าง และขนาดต่าง ๆ กัน กลมแป้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 12-40 ซม. เป็นพูเล็ก ๆ ตลอดรอบผล ผิวไม่แข็ง สีเขียวเข้มอมน้ำเงิน หรือ อมเทา อาจด่างเหลืองเป็นทาง หรือ แต้มเป็นจุดกระจายทั่วไป เนื้อสีเหลือง เหลืองอมเขียวหรือสีส้มเข้ม ตรงกลางฟุพรุน มีเมล็ดติดอยู่จำนวนมาก. เมล็ด แบน ขอบแข็งเป็นสัน สีเข้ม.

นิเวศน์วิทยา : ฟักทองมีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาเขตร้อน ปัจจุบันปลูกกันมากในเขตร้อนของโลก เพื่อใช้ผลเป็นอาหาร.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้ไอ และแก้พิษของฝิ่น ต้น ยอดอ่อนกินได้ ผล ใช้เป็นอาหาร สามารถเก็บเอาไว้ได้นานเมื่อแก่จัด เป็นยาระบายอย่างอ่อน เยื่อฟุพรุนภายในผลใช้เป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ แก้ปวดอักเสบ น้ำมันผล กินเป็นยาบำรุงประสาท เมล็ด เนื้อเมล็ดสด หรือ ทำเป็น emulsion เสียก่อน กินเป็นยาขับพยาธิตัวตืดได้อย่างปลอดภัย ขับปัสสาวะ และบำรุงร่างกาย

 

รูปภาพาก:thaihealth.or.th,ch3.sanook.com