สมุนไพรชะมดเชียง

ชะมดเชียง

 

ชะมดเชียงเป็นสัตว์หลายชนิดในสกุล  Moschus

จัดอยู่ในวงศ์  Cervidae (ในความหมายหนึ่งของคำ “เชียง” แปลว่าที่สูง) ตำราบางเล่มเรียกสัตว์พวกนี้ว่า กวางชะมด ตามชื่อสามัญที่เรียก musk deer แต่ชะมดเชียงมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างจากกวาง เช่น ลำตัวมีขนาดเล็กถึงปานกลาง ตัวผู้มีเขี้ยวใหญ่และยาวมาก ด้านบนของกะโหลกไม่มีปุ่มกระดูกที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับโคนเขา

 

ชีววิทยาของชะมดเชียง

ชะมดเชียงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกีบคู่ รูปร่างคล้ายสัตว์จำพวกกวาง มีขนาดเล็ก วัดจากปลายจมูกถึงก้น ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๗-๑๗ กิโลกรัม หัวเล็ก ไม่มีเขา ตัวผู้มีเขายาวคล้ายใบมีด ยื่นพ้นฝีปากบนอย่างเห็นได้ชัด ตัวเมียมีเขี้ยวสั้นมากไม่ยื่นออกมาเหมือนตัวผู้ ใต้ลำคอมีแถบขนสีขาว ๑-๒  แถบ ขนบนลำตัวค่อนข้างหยาบ สีลำตัวแปรผันไปแล้วแต่ชนิดมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลเข้มจนถึงสีคล้ำเกือบดำ ใต้ท้องสีจางกว่าลางชนิดมีจุดสีจางๆ บนด้านข้างของลำตัวมีถุงน้ำดี นมมี ๑ คู่ ขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่หน้าราว ๕ เซนติเมตร กีบเท้ายาวเรียว ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่มีต่อมคล้ายถุงอยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับสะดือสำหรับผลิตสารที่มีกลิ่น ลักษณะเป็นน้ำมันคล้ายวุ้นสีน้ำตาลแกมแดง เมื่อแห้งจะเป็นก้อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ เรียกชะมดเชียงหรือ musk ซึ่งตำราหลายเล่มเขียนผิดว่า ชะมดเชียงได้จากอัณฑะ(testes)   ของสัตว์พวกนี้ชะมดเชียงที่ใช้เครื่องยาที่เรียก ชะมดเชียง เช่นกันนั้น อาจได้จากสัตว์ ๔ ชนิด คือ
๑.ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moschus moschiferus Linnaeus ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดลำตัว ๕๕-๖๐ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มักมีลายจุดและขีดสีจางกว่าบนลำตัว ขนค่อนข้างยาวและอ่อนนุ่ม ลำคอมีแถบสีขาวพาดตามยาว      ๒ แถบ กระดูกขายาวกว่าชนิดอื่นๆ ลูกชะมดเชียงชนิดนี้มีลายจุดและขีดสีขาวเด่นทั้งตัว พบอาศัยอยู่ในแคว้นไซบีเรียจนถึงเกาะแซ็กคาลินในประเทศรัสเซีย มองโกเลีย เกาหลี และจีนตอนเหนือ


๒.ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moschus  chrysogaster  (Hodgson) ขนาดลำตัว  ๕๐-๕๖  เซนติเมตร กะโหลกหัวมีส่วนปากยาวกว่าชนิดอื่น ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง   มีประสีจาง   ไม่เด่นชัดนัก ปลายใบหูสีเหลือง   ลำคอมีแถบกว้างสีขาวเพียงแถบเดียวชนิดย่อยที่พบในรัฐสิกขิมของประเทศอินเดียและเนปาล มีลำตัวสีน้ำตาลคล้ำเกือบดำ ไม่มีแถบสีขาวที่ลำคอ อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงแถบเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาใกล้เคียงในประเทศอัฟกานีสถาน ปากีสถาน ภาคเหนือของอินเดีย (ในรัฐชัมมูและกัศมีร์กับรัฐสิกขิม) ภูฏาน เนปาล และภาคตะวันตกของจีน


๓.ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moschus   fuscus  Li  ขนาดลำตัว ๕๐-๕๓ เซนติเมตร ลำตัวสีดำเข้ม ไม่มีสีจางบนลำตัว มักอยู่ตามหุบเขาลึก ริมแม่น้ำในมณฑลยุนหนานของจีนและเขตปกครองตนเองทิเบต พม่าตอนเหนือ เนปาล รัฐสิกขิมของอินเดีย  และภูฏาน


๔.ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moschus  berzovskii  Flerov  ชนิดนี้ทีขนาดเล็กที่สุด ขนาดลำตัวสั้นกว่า ๕๐ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มีจุดละเอียดสีน้ำตาลเหลืองประตลอดลำตัว ลำคอมีลายแถบสีขาว ๒ แถบ ปลายใบหูมีสีดำ พบอาศัยอยู่ในป่าทึบของประเทศจีน ตั้งแต่ภาคตะวันตก ภาคใต้ ไปจนจรดชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม


ชะมดเชียงเป็นสัตว์ขี้อาย
มักซุกซ่อนตัว มีประสาทรับเสียงดีมาก เมื่อตกใจจะกระโดดหนีไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเช้าและเย็นจะออกจากแหล่งที่พักนอน ซึ่งเป็นตามซอกหินหรือขอนไม้เพื่อหากิน   ได้แก่ ดอกไม้  ใบไม้ ยอดอ่อนของพืช และหญ้า ในฤดูหนาวจะกินกิ่งไม้เล็กๆ มอส และไลเคน
ตามปรกติอยู่โดดเดี่ยวทั้งปี ยกเว้นกลุ่มของชะมดเชียงตัวเมียกับลูกเท่านั้นในเขตที่อาศัยมีทางเดินติดต่อกันระหว่างแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และที่ถ่ายมูลหลังถ่ายมูลจะใช้ขาคู่หน้าเขี่ยดินกลบ ชะมดเชียงตัวผู้แสดงแนวเขตโดยเอากลิ่นจากต่อมทาไว้ตามต้นไม้ กิ่งไม้ และก้อนหิน สังเกตได้จากคราบน้ำมันที่ติดอยู่เข้าใจว่ากลิ่นดังกล่าวยังใช้เป็นสื่อให้ตัวเมียเข้ามาหาด้วย
ฤดูผสมพันธุ์ของชะมดเชียง
อยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ตัวผู้วิ่งไล่ต้อนตัวเมียและสู้กับตัวผู้ตัวอื่นๆ เพื่อแย่งชิงตัวเมีย เขี้ยวที่ยาวอาจทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์บนลำคอและบนแผ่นหลังของคู่ต่อสู้ ในระยะนี้ตัวผู้แทบไม่กินอาหารเลย ทั้งยังตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและวิ่งไปมาในบริเวณกว้าง เมื่อสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์จึงจะกลับไปอาศัยอยู่บริเวณที่อยู่เดิมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะตั้งท้องนาน  ๑๕๐-๑๘๐   วัน โดยปรกติจะออกลูกครั้งละตัว ลูกอ่อนเมื่อแรกเกิดมีน้ำหนัก  ๖๐๐-๗๐๐  กรัม ลำตัวมีจุดและขีดสีขาวพรางทั้งตัว ในช่วงสัปดาห์แรก ลูกชะมดเชียงซุกตัวนิ่งอยู่ตามซอกหินหรือตามพุ่มไม้ทึบ ตัวเมียเข้าไปให้นมลูกเป็นครั้งคราว ในระหว่างกินนมลูกจะใช้ขาหน้าเกาะเขี่ยขาคู่หลังของแม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหล พฤติกรรมเช่นนี้ไม่พบในสัตว์พวกกวาง เมื่ออายุได้รา  ๑ เดือน จึงออกไปหากินพร้อมกับแม่ ชะมดเชียงมีอายุ  ๘-๑๒  ปี   ถิ่นที่อยู่ส่วนใหญ่เป็นป่าที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน มักเป็นป่าสนหรือป่าผลัดใบที่รกทึบบนภูเขาหิน ในเขตหนาวและเขตอบอุ่นของซีกโลกภาคเหนือ ตั้งแต่ประเทศรัสเซีย มองโกเลีย เกาหลี จีน ลงมาถึงตามประเทศที่อยู่ตามแนวเทือกเขา ในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อัฟกานีสถาน ปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย รัฐสิกขิม ภูฏาน เนปาล และภูมิภาคในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่าจนถึงเวียดนาม

 

ประโยชน์ทางยา

สรรพคุณทางโบราณว่า ชะมดเชียงมีรสหอมเย็นและคาวเล็กน้อย ใช้ปรุงเป็นยาชูกำลังและบำรุง ดวงจิตมิให้ขุ่นมัว ใช้ผสมในยาแผนไทยต่างๆหลายขนาน เช่นยาแก้ลมยาแก้เจ็บคอยาแก้ไข้หนาวสั่น ยาแก้โรคเกี่ยวกับข้อ แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในโรคไอกรน แต่มักใช้ในปริมาณน้อย เพราะมีราคาแพงและหายาก ชะมดเชียงมีองค์ประกอบทางเคมี ชื่อสาร  มัสโคลน(muscone)นอกจากนั้นยังมีชัน(resin)คอเลสเตอรีน(cholesterin) โปรตีนไขมันและสารอื่นๆอีกหลายชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม

 

รูปภาพจาก:wattanakaffee.net,prasitkongsup.wordpress.com