สมุนไพรเพกา

สมุนไพรเพกา

เพกา (Oroxylum indieum Vent.)
บางถิ่นเรียกว่า เพกา (กลาง) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเล-นราธิวาส) มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (เหนือ) ลิ้นฟ้า (เลย) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (เงี้ยว-เหนือ)

เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 4-20 เมตร เปลือกเรียบ สีเทา บางทีแตกเป็นรอยตื้น ๆ เล็กน้อย มีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่เกิดจากใบร่วงหล่นไป ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศกระจัดกระจายทั่วไป. ใบ ประกอบแบบขนนก 2-3(-4) ชั้น มีใบเดี่ยว ๆ ที่ปลายก้าน เรียงตรงข้ามชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ก้านใบยาว 0.5-2.0 เมตร ใบย่อยรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 3-9 ซม. ยาว 4-14 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบสอบ กลม หรือ รูปไต และมักจะเบี้ยว ก้านใบย่อยยาว. ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ยอด ยาว 0.25-2.0 เมตร กลีบรองกลีบดอกยาว 2-4 ซม. เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนบนไม่แยกออกเป็นกลีบ ๆ อย่างเด่นชัด เมื่อเป็นผล กลีบชั้นนี้จะมีเนื้อแข็งมาก กลีบดอกค่อนข้างหนา ภายนอกสีม่วงแดง หรือ น้ำตาลคล้ำ ภายในสีเหลืองเปรอะ ๆ ถึงสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปลำโพง ยาว 7-10 ซม. ปลายแยกออกเป็นกลีบย่นขยุกขยิก 5 กลีบ บริเวณปากลำโพงด้านในสีขาวอมเหลือง หรือ ขาวอมเขียว เกสรผู้ 5 อัน ติดกับท่อดอก โคนก้านมีขน เกสรเมีย 1 อัน ท่อเกสรยาว 4-6 ซม. สีม่วงคล้ำ ดอกบานกลางคืน. ผล เป็นฝักแบน ยาวคล้ายรูปดาบ ห้อยระย้า อยู่เหนือเรือนยอด กว้าง 6-10 ซม. ยาว 45-120 ซม. เมล็ดแบน มีปีกบางใสจำนวนมาก กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 5-9 ซม.

นิเวศน์วิทยา : ชอบขึ้นในที่โล่ง บริเวณชายป่าดิบและไร่ร้างทั่ว ๆ ไป.

สรรพคุณ : ใบ  ต้มน้ำดื่มแก้ปวดท้อง เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ เปลือก เป็นยาฝาดสมาน ดับพิษโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย ป่นเป็นผงหรือยาชง ใช้ขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน เป็นยาขม เจริญอาหาร ผงเปลือกผสมกับขมิ้นชัน (Curcuma domestica Valeton) เป็นยาแก้โรคปวดหลังของม้า. เปลือกราก แก้ปวดท้อง ฝาดสมาน ยาบำรุง แก้บิด แก้ท้องเสีย ขับเหงื่อ ราก เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง เมล็ด เป็นยาถ่าย  ลำต้น แก้แมลงป่องต่อย

 

รูปภาพจาก:suanmeesuk.com,e-shann.com,สมุนไพร