สมุนไพรผักตำลึง

สมุนไพรผักตำลึง

ผักตำลึง Coccinia grandis Voigt
ชื่อพ้อง C. indica Wight & Arn.
ชื่อเรียกประจำถิ่น  ผักตำลึง (กลาง) แคเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ผักแคบ (เหนือ)

ไม้เถา ลำต้นเล็ก เกลี้ยง มือเกาะไม่แยกแขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว 5-8 ซม. โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยเล็กๆ หักเป็นมุม 5 มุม หรือ เว้าลึกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายใบเป็นติ่งแหลม มีเส้นใบออกจากจุดเดียวกันที่โคนใบ 5-7 เส้น ก้านใบยาว 3-6 ซม. ดอก ใหญ่ สีขาว ออกเดี่ยว ๆ หรือ เป็นคู่ที่ง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน แต่ลักษณะคล้ายคลึงกัน ก้านดอกยาว 2-4 ซม. ดอกเพศผู้ กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย เป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบรูปไข่ ปลายแหลม ยาว 10-12 มม. เกสผู้ 3 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นมัด. ดอกเพศเมีย กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปกระสวย ท่อรังไข่ยาว เกลี้ยง ปลายแยกเป็น 3-5 แฉก. ผล รูปไข่กลับ หรือ ขอบขนาน กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. แก่จัดผิว และเนื้อสีแดง. เมล็ด มีจำนวนมาก รูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 3 มม. ยาว 7 มม. แบน เปลือกแข็ง.

นิเวศน์วิทยา : ตำลึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาเย็น ลดไข้ ถอนพิษ และแก้อาเจียน เผาเป็นเถ้าใช้ทาแผล ส่วนผลเปลือกราก กินเป็นยาระบาย ต้น น้ำยางต้นเป็นยาเย็น ช่วยดับพิษ ใช้หยอดตา แก้อักเสบ ถ้าผสมกับน้ำคั้น ต้นว่านน้ำ (Acorus calamus Linn.) ใช้กินแก้อาการวิงเวียน มึนงงศีรษะ และลดไข้ น้ำชงต้นกินแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนน้ำยางต้น ใบ และราก กินแก้โรคเบาหวาน ใบ กินได้ ใบต้นตัวผู้ ใช้ผสมเป็นยาเขียว ช่วยลดไข้ ทาถอนพิษ ขับเสมหะ แก้คัน และปวดแสบปวดร้อน ดอก ตำเป็นยาทาแก้คัน ผลอ่อน กินได้ เมล็ด ตำกับน้ำมะพร้าว ใช้ทาแก้หิด

 

รูปภาพจาก:prayod.com,motherandcare.in.th