สมุนไพรเยี่ยวหมู

สมุนไพรเยี่ยวหมู

เยี่ยวหมู Adenostemma lavenia (Linn.) O. Kuntze
บางถิ่นเรียก เยี่ยวหมู (เชียงใหม่) ลินลางเช้า (จีน).

ไม้ล้มลุก สูง 30-100 ซม. ลำต้นค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอก เป็นสัน มีขน หรือเกลือเกลี้ยง. ใบ ออกตรงข้ามกัน รูปไข่ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 5-15 ซม. ยาว 4-20 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบเป็นปีกแคบไปยังก้านใบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หรือ ซี่ฟันหยาบ ๆ เนื้อในบางคล้ายกระดาษ มีขนกระจายทั้งสองด้าน; ก้านใบยาว 1-5 ซม. ดอก เป็นกระจุก วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ใบประดับขนาดเล็กอยู่ที่โคน หรือ กึ่งกลางของก้านช่อดอก; ริ้วประดับมี 2 ชั้น รูปขอบขนานแคบ ยาว 5-6 มม. มีขน กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ยาว 2-2.5 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขน ยอดเกสรเมียยาวโผล่พ้นท่อกลีบดอกออกมาประมาณ 2.5 มม. ปลายแยกเป็นสองแฉก. ผล แห้ง ค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอก สีน้ำตาล; มีระยางค์ 3-5 เส้น ยาว 4-5 มม.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่า ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะทั้งบนที่ราบและที่สูง.

สรรพคุณ : ทั้งต้น แก้อาการท้องร่วง น้ำคั้นใช้รักษาโรคริดสีดวงโพรก และดื่มหลังคลอดบุตร. ราก น้ำต้มดื่มแก้ปวดท้อง. ใบ ในอินโดนีเซียตำเป็นยาพอกแก้อาการปวดแสบปวดร้อนเมื่อถูกแดดเผา แก้หวัดน้ำมูกไหล พอกแก้อาการปวดศีรษะ ใช้เป็นยาสระผสมเพื่อให้ผมขึ้น  น้ำคั้นใช้เป็นยากระตุ้นและยาที่ทำให้จาม ใส่แผลที่จมูกและหู ใช้แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้มกับน้ำกระสายยาใช้ทาแก้บวม กินกับเกลือแก้อาการเจ็บคอ น้ำต้มใช้รักษาโรคผิวหนัง

 

รูปภาพจาก:drfarrahcancercenter.com,commons.wikimedia.org,สมุนไพร