สมุนไพรพลู

สมุนไพรพลู

ชื่อพื้นเมืองอื่น พลู (ภาคกลาง) ซีเก๊ะ (มลายู – นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper betle L .
ชื่อวงศ์ PIPERACEAE
ชื่อสามัญ Betel pepper.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์ 
ไม้เถา (C) เลื้อยยาว ลักษณะของลำต้นอวบน้ำ มีร่องเล็กๆสีน้ำตาลยาวขนานไปตลอดลำต้น สันร่องมีสีเขียว มีข้อและปล้องชัดเจนมีรากรอบข้อไว้ยึดเกาะ ทุกส่วนมีกลิ่นหอมเฉพาะ
ใบ เป็นใบเดี่ยว ติดกับลำต้นแบบสลับ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปหัวใจลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ ผิวแผ่นใบมันและมีสีเข้มกว่าผิวท้องใบ ขอบใบเรียบ ใบอ่อนจะเป็นสีเขียวและใบแก่สีจะเข้มขึ้น และมีกลิ่นฉุน ใบกว้าง 3-10 ซม. และยาวประมาณ 4-12 ซม.                                                                                                           
ดอก ออกเป็นกลุ่มเรียงอยู่บนก้านช่อ และดอกมีขนาดเล็ก สีขาว ไม่มีก้าน ลักษณะดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะแยกกันอยู่คนละดอก                 
ผล ลักษณะผลรูปกลม อัดแน่นเป็นช่อ เนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีแดง

นิเวศวิทยา                                     
พลูเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย อแฟริกา พบขึ้นอยู่ในบริเวณที่มีความชื้นสูง ชอบอากาศร้อน แต่ไม่ชอบแสงแดดจัดหรืออุณหภูมิสูงเกินไป นิยมปลูกในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

การปลูกและขยายพันธุ์                                     
เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือดินเหนี่ยวร่วนระบายน้ำได้ดี ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำลำต้นหรือเถา ทำค้างหรือหลักเพื่อให้รากพลูสามารถยึดเกาะและเลื้อยได้

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ใบ  รสเผ็ดเมา แก้ปวดฟัน แก้ระมะนาด แก้ปากเหม็น ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย และช่วยกระตุ้นให้กระปี้กระเปร่า ใช้ภายนอกแก้ปวดบวมฟกช้ำ ฆ่าเชื้อโรค แก้การอักเสบของเยื่อจมูกและลำคอ แก้กลาก แก้น้ำกัดเท้า แก้คัน แก้ลมพิษ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
1. ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ โดยใช้ใบสด 1-7 ใบ ล้างให้สะอาดโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อยแช่ไว้ประมาณ 5 นาที คั้นเอาน้ำจิบ                                            
2. รักษาลมพิษ กลากเกลื้อน แมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบสด 3-5 ใบ ล้างให้สะอาด โขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นและเอากากพอกด้วยวันละ 3 ครั้ง นานประมาณ 3-4 อาทิตย์

3. แก้อาการปวดท้อง โดยใช้ใบสด 10-15 ใบ ล้างให้สะอาด ต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี กรองเอาแต่น้ำดื่ม

ข้อควรทราบ

  • ห้ามใช้กับแผลเปิด เนื่องจากจะทำให้แสบมาก

  • ไม่ควรทำยาทิ้งไว้นานเพราะจะทำให้ยาเสื่อมประสิทธิภาพได้ จึงควรทำเฉพาะจะใช้เท่านั้น

 

รูปภาพจาก:prachachat.net,baabin.com,สมุนไพร